“Thai Silver Jewelry is the Best” ประโยคที่ชาวต่างชาติกล่าวขานถึงเครื่องประดับเงินจากประเทศไทยนี้ไม่เกินจริง อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับนานหลายทศวรรษ การผลิตเครื่องประดับเงินไทยถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่แสดงถึงความประณีตศิลป์ในงานช่าง จากการผลิตผ่านกรรมวิธีที่เป็นงานทำมือ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตเฉพาะถิ่นสืบทอดต่อกันมา ส่งผลให้ประเทศไทยครองความเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยเป็นเสมือนหนึ่งในอัญมณีที่ส่องประกายบนเวทีเศรษฐกิจโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและรายได้ให้กับประเทศ จากข้อมูลการส่งออกเครื่องประดับเงินไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 มีมูลค่าการส่งออก 842.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 19.51% โดยงตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ และออสเตรเลีย แม้ในระยะหลังจะมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างจีน อิตาลี หรือตุรกี แต่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่สำคัญนั่นคือ ช่างฝีมือไทย มีความประณีต ละเอียดอ่อน และมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่ดี ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ความหลากหลายของรูปแบบและวิธีการผลิต ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่ม อาทิ การผลิตด้วยช่างฝีมือตามวิธีดั้งเดิมที่เพิ่มการผสมผสานเทคนิคใหม่ การออกแบบที่ทันสมัยตามแนวโน้มแฟชั่นโลก และการผลิตเครื่องประดับชั้นสูงที่ใช้ความประณีตขั้นสูงสุด
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีหน่วยงานสำคัญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่สนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการกําหนดมาตรฐานสินค้า สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยที่เป็นหน่วยงานกลางในการช่วยเหลือสมาชิก แลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นศูนย์กลางของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐได้เดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นการส่งออกของเครื่องประดับเงินไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังเช่น การจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (Bangkok Gems & Jewelry Fair) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีโดยเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย และยิ่งใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้ค้าจากทั่วโลก ต้องเดินทางมาเจรจาและสั่งซื้อสินค้าในงานที่รวบรวมผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ค้าปลีกเครื่องประดับจากทั่วโลก ช่วยสร้างเครือข่ายและเกิดการเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่างชาติโดยตรง ตลอดจนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยงานที่ครั้งที่ 70 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ด้าน นายสิทธิศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า เครื่องประดับเงินของประเทศไทยยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพการผลิต การออกแบบ การให้บริการที่ครบวงจร และการเอาใจใส่ลูกค้าในทุกขั้นตอน โดยครองส่วนแบ่งการตลาดส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงการยอมรับในฝีมือการผลิตเครื่องประดับเงิน ตลอดจนความหลากหลายของรูปแบบสินค้า ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างประเทศอินเดีย ก็มีความต้องการเครื่องประดับเงินไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเครื่องประดับเงินไทยได้รับการยอมรับไปทั่วโลกอย่างแท้จริง
อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทย จะยังคงพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรักษาและพัฒนาบุคคลากรที่มีฝีมือ องค์ความรู้ในการด้านออกแบบ ตลอดจนการรับและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต การออกแบบ และการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อพร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และด้วยการผสมผสานรากฐานความเป็นไทย ทั้งความประณีต จริยธรรม และความเอาใส่ใจ ก่อให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะของการผลิตและการส่งออกเครื่องประดับเงินไทย”
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมฯ เกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายต่างๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งการเพิ่มตลาดใหม่ๆ และรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำในตลาดโลก ขณะเดียวกันยังคงให้ความใส่ใจในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม การรักษาธรรมาภิบาล ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อบุคคลากรในอุตสาหกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่หนุนนำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยมีอนาคตที่สดใสรออยู่ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรม และการปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่นำพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก