กรมควบคุมโรค ห่วงใยใส่ใจสุขภาพประชาชน ในเดือนแห่งวันแม่ “สิงหาเรารักกัน สานพลังป้องกันโรค” พร้อมเฝ้าระวังฝีดาษวานร หลังพบระบาดในเด็กแถบแอฟริกา

0
106


เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “สิงหาเรารักกัน สานพลังป้องกันโรค” พร้อมดูแลสุขภาพประชาชนและคุณแม่มือใหม่ โดยแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงนี้


โควิด 19 แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบระบาดมากที่สุดคือ สายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 ข้อมูลวันที่ 7 มกราคม – 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36,141 ราย ปอดอักเสบ 447 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 184 ราย และเสียชีวิต 194 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 560 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว
ไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 316,123 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 27 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรงรีบเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบการระบาดสูงในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2564 – 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัส RSV 1,240 ราย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และพบผู้เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว


จากการระบาดของเชื้อระบบทางเดินหายใจดังกล่าว ในช่วงฤดูฝน ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและตระหนักในใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยแนวทางการป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนี้ 1) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ 2) เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา 3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม 4) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย 5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 6) หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ดังนี้ 1) หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน งดเข้ากิจกรรม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ 2) ดื่มน้ำมากๆ 3) หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย


ไข้เลือดออก ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วย 59,370 ราย พบมากสุดในกลุ่มวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 55 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว จึงขอเน้นย้ำมาตรการ ดังนี้ 1. เน้นการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 2. เน้นการควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3. เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว 4. เน้นการสื่อสารงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหารได้ และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน


โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในในช่วงฤดูฝน เชื้อเข้าสู่รางกายจากการนำมือไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และนำมาสัมผัสใบหน้า ขยี้ตา แคะจมูก หรือนำเข้าปาก เชื้อนี้จะปะปนอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ รวมทั้งน้ำจากตุ่มผิวหนังของผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วย 36,474 ราย โดยพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 26,499 ราย และพบผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยคำแนะนำในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก สำหรับสถานศึกษาทุกแห่ง และสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดังนี้ หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม สอนให้เด็กล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้รีบแจ้งผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และควรแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่นในครอบครัว พร้อมให้หยุดเรียน 1 สัปดาห์ให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
โรคที่มากับน้ำท่วม 1) โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบมากในช่วงฤดูฝน เชื้อจะเข้าทางผิวหนังเมื่อแช่น้ำ
เป็นเวลานาน การดื่มน้ำไม่สะอาด หรือการหายใจเอาฝุ่นดินที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยทั่วไปอาการมักปรากฏขึ้นใน 2 – 4 สัปดาห์ หลังได้รับเชื้อ อาการเริ่มแรกมักจะมีไข้สูง ต่อมาจะมีการการไอเรื้อรัง มีฝีขึ้นที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อและกระดูก หากติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตใน 1 – 2 วัน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วย 1,985 ราย เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 45 – 60 ปีขึ้นไป และพบผู้เสียชีวิต 60 ราย ส่วนใหญ่โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น 2) ไข้ฉี่หนู จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู หมู วัว ควาย และไหลปนเปื้อนมากับแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขัง เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน หรือการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป สัญญาณป่วยโรคนี้ คือจะมีไข้สูงเฉียบพลันหลังลุยน้ำ 1 – 2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วย 2,042 ราย พบมากในกลุ่มเกษตรกร อายุระหว่าง 55 – 64 ปี ผู้เสียชีวิต 24 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากไปพบแพทย์ช้า หรือซื้อยามาทานเอง ทั้ง 2 โรคดังกล่าว สามารถป้องกันโดย 1. หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หรือสัมผัสดินโดยตรง หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท และถุงมือยาง หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ทันที 2. ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง 3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน 4. เกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากมีไข้สูงต่อเนื่อง 3 วัน ร่วมกับมีประวัติสัมผัสดินและลุยน้ำ ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวิติสัมผัสทันที
ภัยสุขภาพอื่น ที่มากับฤดูฝน โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วม การป้องกัน ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) จมน้ำ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในช่วงน้ำไหลหลาก ห้ามดื่มสุราแล้วลงไปในน้ำหรือเล่นน้ำ ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ และ 4 ให้ ได้แก่ ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2) สัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง 3) ไฟฟ้าช็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟพร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้าง ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และหากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้รีบตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที
โรคที่เฝ้าระวังในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ฝีดาษวานร กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด หลังพบอัตราการป่วยติดเชื้อสูงในเด็กประเทศแถบแอฟริกากลาง ฝีดาษวานรแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ (clade 1) ที่พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราป่วยตายสูง สถานการณ์ผู้ป่วยในทวีปแอฟริกา ปี 2565 – 2567 ผู้ป่วยสะสม 14,250 ราย เสียชีวิต 456 ราย ขณะที่ประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว
สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยและทั่วโลกในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา คือ สายพันธุ์ (clade 2) การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ทางเพศสัมพันธ์ และสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม 2567 – 10 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 140 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2565 – 2567 มีผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิต 11 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์ และจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางอย่างต่อเนื่อง คำแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษวานร ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก 2. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน 3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร 4. ไม่คลุกคลี หรือสัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร
ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองเบื้องต้น หากมีผื่นมีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประกอบกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที พร้อมยืนยันมีความพร้อมระบบการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นเดือนแห่งวันแม่ ขอเน้นการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ใน 3 โรค ที่ว่าที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เพื่อป้องกันลูกรัก ได้แก่ เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.72 (เป้าหมาย <ร้อยละ 2) ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 2561 จากร้อยละ 0.26 เป็น 1.30 ซิฟิลิสแต่กำเนิด ปี 2565 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2561 จากอัตราป่วย 40.0 เป็น 131.8 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคน (เป้าหมาย ≤50 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคน) และไวรัสตับอักเสบบี จากแม่สู่ลูก ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.93 (เป้าหมาย ≤ ร้อยละ 2) ซึ่งทั้ง 3 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษา สามารถส่งต่อเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี และไวรัสตับอักเสบบี ให้ลูกได้ คำแนะนำมีดังนี้ 1. แนะนำฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี และไวรัสตับอักเสบบี 2. ชวนคู่มาตรวจคัดกรองตรวจหาการติดเชื้อทั้ง 3 โรค 3. หากมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ แนะนำให้คู่สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง แม่ติดเชื้อควรรับการรักษาโดยเร็วที่สุด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันส่งต่อเชื้อสู่ลูกรัก

กรมควบคุมโรคห่วงใย…อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

วันที่ 14 สิงหาคม 2567