FWD ประกันชีวิต เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น ปี 3 ชุมชนต้นแบบสู่การสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

0
493

FWD ประกันชีวิต เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ต่อยอด 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการต้นกล้าชาและการทำงานร่วมกันในชุมชน โครงการพัฒนาคุณภาพชา เพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับชาอัสสัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลักของชุมชน

โดยชุมชนให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมากถึง 33 ครัวเรือน และมีผลผลิตใบชาในปริมาณที่เพิ่มมากกว่า 50% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาชุมชนอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“FWD ประกันชีวิต”) เปิดเผยว่า หลังจากที่ FWD ประกันชีวิต ได้คัดเลือกชุมชน ลงพื้นที่และเริ่มทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับชุมชนลาหู่ ใน “โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ให้สังคมสามารถเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล โดยเรามีกรอบแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการทำงานในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนในการร่วมพัฒนาและทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ เข้าช่วยพัฒนาโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาชุมชนของ FWD ประกันชีวิต ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยมีรายละเอียดและความคืบหน้าดังต่อไปนี้

โครงการธนาคารต้นกล้า
เป็นโครงการแรกที่จัดตั้งขึ้นหลังจากมีการสำรวจความคิดเห็นและ ความต้องการของชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องจำนวนต้นกล้าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพื้นที่ และต้องการเพิ่มผลผลิตชาให้มากขึ้นในระยะยาว และเพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน พัฒนาด้านสังคม จึงให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการต้นกล้าอย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเลือกนายธนาคารเพื่อช่วยในการดำเนินการ การออกแบบแบบฟอร์มในการของรับต้นกล้า การลงทะเบียนสมาชิก ไปถึงการตรวจสอบระบบการนำต้นกล้าไปใช้ส่งผลให้เกิดการเพาะพันธุ์อย่างมีคุณภาพ มอบต้นกล้าให้สมาชิกเพื่อเพิ่มปริมาณต้นชา และส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการบริหารจัดการธนาคารต้นกล้า วางแผนการดำเนินงานและจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ ซึ่งในปี 2565 ที่เริ่มดำเนินการได้เปิดรับสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 1 มีผู้ผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวน 21 ครัวเรือน จากนั้นได้มีการทำสำรวจผลการดำเนินงาน พบว่า 86.6% ของจำนวนสมาชิกได้นำองค์ความรู้ในการเพาะปลูกไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองและเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา ด้วยความสำเร็จของรุ่นแรก ในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 2 จำนวนเพิ่มขึ้น 12 ครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารวมทั้งสิ้น 33 ครัวเรือน

โครงการพัฒนาคุณภาพชา จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สมาชิกมีองค์ความรู้ในเชิงบูรณาการ เข้าใจรูปแบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมเพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในการอบใบชา การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 งานหลัก คือ
(1) เพิ่มคุณภาพจากผลผลิตในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนาโรงอบใบชา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” (SMART) ที่ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผลปรากฏว่า สามารถแก้ไขข้อจำกัดในกระบวนการผลิตชาให้มีคุณภาพมากขึ้นจากโรงอบชาเดิมที่สามารถตากชาได้เพียง 60 ถาด ตากใบชาสดได้ 200 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้ 40 กก./รอบ เป็นตากชาได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 100 ถาด ตากใบชาสดได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 กก./รอบ นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งระบบ SMART Device ภายในโรงอบชา เพื่อแสดงผลฐานข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นของโรงอบชาผ่านโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการอ่านข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และหาแนวทางการพัฒนาโรงอบชาต่อไป
(2) เพิ่มปริมาณของผลผลิตใบชาในอนาคต ผ่านโครงการธนาคารต้นกล้า ด้วยการมอบต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชนซึ่งเป็นสมาชิกในโครงการ พร้อมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การเพาะเมล็ดและคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรง จัดอบรมเรื่องการดูแลต้นกล้า การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน โดยในปีแรกได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 1 รวม 2,100 ต้น และเมล็ดพันธุ์รวม 21 กก.และในปีนี้ได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 2 รวม 1,200 ต้น และเมล็ดพันธุ์อีก 12 กก. ซึ่งชุมชนได้รับต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ที่ลงแปลงเพาะแล้ว รวมกว่า 5,000 ต้น นอกจากนั้นสมาชิกในชุมชนยังมีแนวคิดร่วมกันในการผลักดันให้ชาดอยปู่หมื่นก้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้แก่สมาชิกสามารถนำไปต่อยอดในการจำหน่ายชาให้มีราคาขายมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งเพิ่มรายได้ในระยะยาว

โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม
เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 โดยมีแนวคิดในการนำใบชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน 2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบ Fine Dining นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม พร้อมวางขายเมนูพิเศษในร้านหวานไทย นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะนำชาอัสสัมไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ

ส่วนแผนการพัฒนาชุมชนที่ FWD กำลังดำเนินการร่วมกับชุมชน คือ การแนะนำวิธีการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ช่องทางออนไลน์ และต่อยอดสู่การออกบูธแสดงสินค้าของชุมชนได้ในอนาคต ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำธุรกิจออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ ตลอดจนการเล่าเรื่องราว เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของชุมชน โดยเราให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

“นอกจากนี้ ในการทำงานขั้นตอนต่อไป ทางทีมงานพร้อมนำข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับผลผลิตใบชาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยเรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หลังจากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ FWD ประกันชีวิต จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป” นายเดวิด กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

กลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี เป็นธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชีย มีลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค รวมถึงในประเทศที่มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ในปี พ.ศ. 2566 เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 และให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยแนวคิดที่ยึดถือความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อการประกันชีวิต

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fwd.co.th หรือwww.facebook.com/FWDThailand

Omne by FWD แอปพลิเคชันใหม่ ที่ช่วยให้การประกันเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ พร้อมฟีเจอร์ดีๆ อีกมากมาย ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ช่วยให้คุณสร้างนิสัยเล็กๆ สะสมความสำเร็จในทุกวัน สร้างความสำเร็จให้ทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลงปลุกพลัง เล่นเกมส์สร้างแรงบันดาลใจ ผ่อนคลายกับทุกท่วงทำนอง หรือวาดภาพผ่อนคลายอารมณ์ ให้คุณสร้างวันของคุณในแบบของคุณได้ด้วยแอปพลิเคชัน Omne พร้อมให้บริการในทุกประเทศของกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี ดาวน์โหลดฟรีผ่าน App Store และ Google Play ได้แล้ววันนี้

Omne by FWD
Every day, Your way.