From Tour to Runway ต่อยอดกระแสนิยมผ้าไทย เติมไฟให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

0
941

นายวีรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Young Talented Designer พร้อมชมการแสดงแฟชั่นโชว์จาก 10 ทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ From Tour to Runway ยกระดับแฟชั่นผ้าไทย เติมไฟการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ ห้อง ไปรษณีย์นฤมิต ไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพมหานคร

นายจักรพงษ์ ชินกระโทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในนามผู้อำนวยการโครงการฯ และผู้จัดงาน ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ปัจจุบันกระแสการสวมใส่ผ้าลายไทยกำลังอยู่ในความสนใจ และยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว จึงได้เชิญภาคีพันธมิตรจัดทำโครงการ ค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนท้องถิ่นจากการเดินทางท่องเที่ยวโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ นำผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้า ลวดลาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาต่อยอดให้มีความทันสมัยเข้าถึงง่าย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและสื่อในการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน”

ด้านนายวีรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม ททท. ผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “Fashion เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 5F ของรัฐบาล นโยบายแผนผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย หรือ Soft Power ประกอบไปด้วย Film, Food, Fashion, Fighting และ Festival ซึ่ง ททท. ขานรับพร้อมขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566 มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย เน้นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนจัดโครงการฯ เพื่อร่วมสร้างกระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต่อยอดสินค้าให้ชุมชนให้เป็นอีกมิติของการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ”

ในการจัดงานครั้งนี้มีภาคีพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวสำคัญอย่าง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการฯ ให้ความสำคัญกับแหล่งผ้าไทยจากชุมชนท่องเที่ยว และเทคนิคภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่ง Young Talented Designer ทั้ง 10 ทีม มีการใช้ผ้าท้องถิ่น ครอบคลุมทั่วภูมิภาคของไทย เช่น ผ้าขาวม้า จากภาคกลาง, ผ้าย้อมฮ่อม ผ้าฝ้าย จากภาคเหนือ, ผ้าหมักโคลน ผ้าไหม จากภาคอีสาน และผ้าบาติก จากภาคใต้ เป็นต้น ถักทอเรียงร้อยจากวิถีชีวิตผ่านศิลปะท้องถิ่น ผสานเข้ากับเรื่องราวการท่องเที่ยวได้อย่างสวยงาม ลงตัว น่าสวมใส่ไปท่องเที่ยวอย่างไม่เคอะเขิน”

พันธมิตรร่วมจัดงาน บริษัท วีที ไทย กรุ๊ป จำกัด หรือ vtthai เจ้าของ website platform รวบรวมงาน handcraft โดย นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ได้กล่าวว่า “คนไทยมีฝีมือทางด้านการหัตกรรม มีผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น ที่สวยงามโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ เป็นโอกาสดีที่จะช่วยสืบสาน รวมถึงสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าด้วยการท่องเที่ยว ใช้พลังของ Soft Power ทำให้ผ้าไทยและชุมชนท่องเที่ยวเป็นที่รู้จัก” นอกจากนี้ยังมี แบรนด์วิชระวิชญ์ ร่วมเป็นภาคีพันธมิตรหลักด้านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เสริมกำลังให้ผลงานของผู้เข้าประกวดน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีไฮไลท์คือการประกวดรอบสุดท้ายผ่านการแสดง Fashion Show บนเวทีพร้อมกับการนำเสนอชุมชนท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ได้มอบเงินรางวัล พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับ Young Talented Designer โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมทุ่งกุลาร้องไห้ ผลงานทุ่งกุลาร้องไห้ จากชุมชนท่องเที่ยวฮ่องแฮ่ และผ้าทอร้อยรักษ์ จังหวัดร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม KANOKPOND X SUPASIT ผลงานสายน้ำผสานวัฒนธรรม RIVER OF CULTURE จากชุมชนชุมชนไทลื้อบ้านหาดบ้ายจังหวัดเชียงราย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม THANAWAT ผลงาน Place with blue nature จากชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีม Jediผลงาน Sand & Waves จากชุมชนบ้านนาตีน จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากชุมชนท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งงานผ้า และสินค้าในหลากหลายรูปแบบ ชูศักยภาพด้าน Soft Power – F-Fashion พร้อมผลักดันการท่องเที่ยว ซึ่งพันธมิตรร่วมจัดทุกท่านเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยยกระดับผ้าไทย ทำให้เกิดการใช้งานมากขึ้น เป็นที่นิยมสวมใส่ง่ายในคนทุกวัย ทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมไปถึงทำให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการฯ และผลงานของนักออกแบบ Young Talented Designer ทั้ง 10 ทีม ได้ที่ เว็บไซต์ www.fromtourtorunway.com และ Facebook Page : From Tour to Runway