EIC ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของไทยปี 2564 เป็น 2.6% จากเดิมที่ 2.2% ตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าคาด และจากเม็ดเงินภาครัฐที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศยังมีข้อจำกัดจากรายได้ภาคท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะฟื้นตัวช้าและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้และงบดุลของ SMEและภาคครัวเรือน  

0
1604

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งมากขึ้น แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างมากตามความเร็วของการฉีดวัควีน COVID-19 และขนาดของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัว 5.6% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 5.0% หลังจากที่หดตัว 3.5% ในปี 2563 โดยเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในปีนี้ (synchronized recovery) เป็นผลจากความคืบหน้าของการค้นพบและฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฐานต่ำ อย่างไรก็ดี ความเร็วของการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าของประเทศต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนจนได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (race to herd immunity)

โดยประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อน จะสามารถเปิดเมืองและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ได้มากขึ้น 
2) ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และ 3) โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งหากมีการพึ่งพาภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูง หรืองบดุลของภาคครัวเรือนหรือภาคธุรกิจมีความเปราะบางอยู่ก่อนหน้าจะมีการฟื้นตัวได้ช้ากว่า โดย EIC ประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปี 2564 เนื่องจากมีการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าในปริมาณมากประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่พร้อมกว่าในการฉีดวัคซีนให้ประชากร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเร่งตัวขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม EM จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่าและมีความแตกต่างกันมาก (เช่น จีนและไทยได้ในไตรมาสที่ 1/2565 ในขณะที่กลุ่ม CLMV อาจต้องรอไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2565) 

สำหรับด้านมาตรการของภาครัฐ ในส่วนนโยบายการคลัง กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปริมาณมากในต้นทุนที่ต่ำ และยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่บางประเทศในกลุ่ม EM อาจเผชิญข้อจำกัดในการออกมาตรการเพิ่มเติม หลังหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากและมีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อดูแลต้นทุนทางการเงินของภาครัฐและเอกชนให้อยู่ในระดับต่ำ 

ทั้งนี้การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้ตลาดเริ่มมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จนทำให้อัตราพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอย่างมีนัย อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นมากจนเป็นเหตุให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องหยุดชะงักลงในปีนี้ยังมีจำกัดและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากตลาดแรงงานในประเทศส่วนใหญ่ยังมี slack อยู่พอสมควร ทำให้แรงกดดันต่อการขึ้นของค่าแรงมีไม่มาก รวมทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของประเทศส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลาง ทั้งนี้ แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นประเทศแรกในช่วงต้นปี 2565 แต่ EIC เชื่อว่า การปรับลดการซื้อสินทรัพย์จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เกิดขึ้นจนถึงปี 2566 หรือ ไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2567 สะท้อนกรอบนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ และยังมีการเพิ่มความยืดหยุ่นของกรอบนโยบายให้สามารถรองรับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจสูงกว่าเป้าหมายได้นานมากขึ้น แต่ยังต้องจับตามองพลวัตของอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่อาจสูงขึ้นได้กว่าคาด จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก เช่น ห่วงโซ่การผลิตของโลกที่สั้นลง การค้าระหว่างประเทศที่ลดลง หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าปรับสูงขึ้นได้เร็วกว่าในอดีต  จนเป็นเงื่อนไขทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด ส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมได้  

รูปที่ 1 : EIC คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว 5.6% ในปี 2564 โดยการฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกมีแนวโน้มชะลอลงจากการกลับมาระบาดของไวรัส ก่อนที่จะฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยการฟื้นตัวจะแตกต่างกันตามความเร็วในการฉีดวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IMF WEO ณ เดือน ม.ค.

การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยจากข้อมูลการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วง 2-3 เดือนล่าสุด พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในส่วนของไทย พบว่ามูลค่าส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมมีระดับเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว นับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ดังนั้นจึงทำให้ EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0% อย่างไรก็ดี ภาคท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านั้นเปิดประเทศต่อนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วทั้งขาเข้าและขาออกอย่างเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ กลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปีหน้าซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น 

รูปที่ 2 : ภาคท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.)

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ พบว่า แม้การระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดรอบแรก แต่ก็ทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและรายได้สะดุดลงในระยะสั้น ซึ่งจะมีผลซ้ำเติมต่อแผลเป็นทางเศรษฐกิจและเป็นข้อจำกัดหลักของการขยายตัวของกำลังซื้อในระยะข้างหน้า โดยจากการติตตามข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าการระบาดรอบใหม่
มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี พบว่าผลกระทบกลับมีน้อยกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงปีก่อน จากมาตรการควบคุมโรคที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการปรับตัวของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ยังพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (bottomed out) ซึ่งสอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ว่าผลกระทบของการระบาดรอบใหม่จะมีประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีไม่มากเท่ากับที่เคยเกิด แต่นับเป็นการซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง 3 ปีติดต่อกัน ขณะที่กิจการในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องซ้ำเติม ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการลงทุนและภาวะการจ้างงานที่ซบเซาอยู่แล้ว โดยข้อมูลตลาดแรงงานสะท้อนว่า แม้อัตราการว่างงาน ณ ธันวาคม 2563 จะอยู่ในระดับไม่สูงมากที่ 1.5% แต่ผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนรุนแรงและกว้างขวางกว่านั้น สะท้อนจาก 1) ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยที่ลดลงกว่า 6% ขณะที่สัดส่วนผู้ทำงานต่ำระดับ (ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 ล้านคน (เทียบช่วงปี 2563 กับค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า)  2) จำนวนคนทำงานอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม 2563 ซึ่งถือเป็นงานที่มีระดับและความมั่นคงด้านรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานในลักษณะนายจ้างและลูกจ้างที่ปรับลดลง รวมทั้งมีข้อมูลที่ชี้ว่า รายได้เฉลี่ยของอาชีพอิสระประเภทต่าง ๆ ก็ลดลงจากเดิมมากเช่นกัน จากอุปทานแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และ 3) จำนวนแรงงานที่ช่วยงานที่บ้านโดยไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า แม้การว่างงานจะไม่มาก แต่แรงงานไทยเผชิญปัญหารายได้ลดลงอย่างรุนแรง จากการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคถูกกระทบมาก จนเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป  

อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจากภาครัฐเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการใช้จ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณ และเม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของการเบิกจ่ายในงบประมาณ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีการลงทุนด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 9.4%YOY ในปี 2564 จากการก่อสร้างทั่วไปตามงบประมาณและโครงการเมกะโปรเจกต์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการล่าสุด ได้แก่ โครงการเราชนะ และ ม. 33 เรารักกัน ซึ่งมีวงเงินช่วยเหลือกว่า 2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน นับเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่จะที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ ขณะที่ในระยะต่อไป EIC คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมซึ่งอาจเน้นด้านการลงทุนหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยภาครัฐยังเหลือเงินที่จะพยุงเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมอีกราว 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีที่มาจาก 2.5 แสนล้านบาทที่เหลือภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกราว 1.4 แสนล้านบาท

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 รวมทั้งใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและจัดสรรสภาพคล่อง รวมถึงสนับสนุน

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่าย
ด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยโน้มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะต่อไป EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็นเพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ (คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 1.3%) นอกจากนี้ คาดว่า ธปท.
จะปรับรูปแบบการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ได้มากขึ้น โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1) ธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ หรือต้องการฟื้นฟูกิจการแต่ขาดสภาพคล่องนั้น ธปท. จะมีการปรับเงื่อนไขของมาตรการ Soft loan และการใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย. เพื่อให้ธุรกิจที่เผชิญปัญหาสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และ 2) ธุรกิจที่มีภาระหนี้ที่มีหลักประกัน แต่อุปสงค์ฟื้นตัวช้าทำให้ขาดรายได้ คาดว่า ธปท. จะผลักดันให้ใช้มาตรการโกดังเก็บหนี้เพื่อลดภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกหนี้ ตลอดจนลดความเสี่ยงของการปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาสินทรัพย์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม 

สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเร็วกว่าประเทศอื่นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น EIC มองว่า การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจของไทย และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ราว 1.9% ต่อ GDP ในปี 2564 จะลดแรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง อย่างไรก็ดี นักลงทุนจะยังมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยทำให้เงินบาทจะไม่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ธปท. จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น หลังไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ จับตา
การแทรกแซงค่าเงิน (Monitoring List) สำหรับความเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าคาดมาจากสถานการณ์
การเมืองไทยที่อาจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ช้ากว่าที่ประเมินไว้

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ตราบใดที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 2) การฉีดวัคซีนในไทยที่อาจล่าช้ากว่าแผน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว 3) ภาระหนี้เสียที่อาจสูงกว่าคาดซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพภาคการเงิน
4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และ 5) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจปะทุขึ้นอีก จากการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงด้านสูงที่สำคัญ ได้แก่
การใช้จ่ายของภาครัฐที่มากกว่าคาด  

ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และมีความเสี่ยงที่จะเกิด permanent output loss ขนาดใหญ่ สะท้อนการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าและแผลเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างลึก ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาวได้
โดยจากการศึกษาของ EIC พบว่า ระดับ GDP ของไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ สะท้อนการพึ่งพาของเศรษฐกิจไทยต่อภาคท่องเที่ยวในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (12% ของ GDP) และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จนกว่าการฉีดวัคซีนจะกระจายจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งในไทยและในประเทศที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวหลักของไทย นอกจากนั้น มีโอกาสสูงที่ GDP ของไทยจะไม่กลับไปสู่ระดับของ trend เดิม และจะเกิด permanent output loss ขนาดใหญ่ โดยพิจารณาจากส่วนต่างในช่วงของระดับ GDP ในกรณีที่ไม่มี COVID-19 เกิดขึ้นเทียบกับระดับ GDP ตามการคาดการณ์ล่าสุดของ IMF และ EIC ในช่วง 3 ปีข้างหน้า พบว่า ระดับส่วนต่างของ GDP ระหว่าง 2 กรณีของไทย (output shortfall) อยู่ที่ประมาณ 8-9% ซึ่งถือว่า
เป็นช่องว่างที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้รายได้ การจ้างงาน และกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ขณะที่ปัญหางบดุลและฐานะทางการเงินของภาค SME และภาคครัวเรือนจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการซ่อมแซม ปัจจัยด้านอุปสงค์เหล่านี้ จะทำให้ปัญหาการว่างงานและการทำงานต่ำระดับระยะยาวมีมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอลงทำให้การนำเทคโนโลยี
และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันมีจำกัด ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดด้านอุปทานและการลดลงของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้ EIC ประเมินว่า ภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดระดับแผลเป็นทางเศรษฐกิจและ output loss ในระยะสั้น ผ่านการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนและการประสานงานการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูให้กับ SME และแรงงานที่มีลักษณะเจาะจงและเชื่อมโยงมากขึ้นทั้งการช่วยเหลือทางการเงิน การสร้างงานและการจับคู่งาน และการลดข้อจำกัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและโอกาสด้านธุรกิจใหม่ ๆ ภายหลัง COVID-19 จบลง ผ่านการลงทุนและการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการปรับทักษะแรงงาน (upskill/reskill) และการเพิ่มศักยภาพของ SME โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี่ดิจิทัลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ     

รูปที่ 3 : GDP ไทยมีแนวโน้มกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งถือว่าค่อนข้างล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก จากการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นช้าและแผลเป็นเศรษฐกิจที่มากกว่า

หมายเหตุ : คาดการณ์เศรษฐกิจจาก IMF (76 ประเทศ) ยกเว้นของสหรัฐฯ ที่เป็นคาดการณ์ของ EIC ที่สะท้อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แล้ว

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IMF 

รูปที่ 4 : เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด permanent output loss ที่มีขนาดใหญ่ (ส่วนต่างระหว่างระดับ GDP หากไม่มี COVID-19 เทียบกับคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุด) ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่ออัตราการขยายตัวในระยะยาว 

หมายเหตุ : คาดการณ์เศรษฐกิจจาก IMF (76 ประเทศ) ยกเว้นของสหรัฐฯ ที่เป็นคาดการณ์ของ EIC ที่สะท้อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แล้ว

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IMF 

รูปที่ 5 : EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP จาก 2.2% เป็น 2.6% จากภาคส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แต่การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC 

โดย :      ดร.ยรรยง ไทยเจริญ

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน

EIC Online : www.scbeic.com

Line : @scbeic

Disclaimer: The information contained in this report has been obtained from sources believed to be reliable. However, neither we nor any of our respective affiliates, employees or representatives make any representation or warranty, express or implied, as to the accuracy or completeness of any of the information contained in this report, and we and our respective affiliates, employees or representatives expressly disclaim any and all liability relating to or resulting from the use of this report or such information by the recipient or other persons in whatever manner. Any opinions presented herein represent our subjective views and our current estimates and judgments based on various assumptions that may be subject to change without notice, and may not prove to be correct. This report is for the recipient’s information only. It does not represent or constitute any advice, offer, recommendation, or solicitation by us and should not be relied upon as such. We, or any of our associates, may also have an interest in the companies mentioned herein.