EIC ประเมิน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถรองรับการใช้งาน ที่เพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 ขณะที่ภาครัฐอาจต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม

0
1748

 

·         ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ COVID-19 ในปัจจุบัน มาตรการให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) และการปิดสถานศึกษาถือเป็นวิธีปฎิบัติที่ถูกใช้เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมในเชิงกายภาพ (social distancing) ในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯ อิตาลี ส่งผลให้ประชากรราว 3 พันล้านคนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่บ้าน สำหรับไทย จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงศึกษาธิการ EIC ประเมินว่า การประกาศมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนไทยที่ต้องอยู่บ้านในช่วงกลางวันของวันธรรมดาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน

จากจำนวนคนที่อยู่บ้านเพิ่มขึ้นในไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ data traffic ได้แก่
1.การใช้อินเทอร์เน็ตกระจายตัวในเขตที่พักอาศัยมากขึ้น 2.การใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่เปลี่ยนจากช่วงเย็นหลังเลิกงานเป็นช่วงกลางวัน และ 3.ปริมาณการใช้งานข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (mobile broadband) พุ่งสูงขึ้นกว่า 17%MOM ขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) เพิ่มขึ้นราว 20%MOM ในมีนาคม 2020  ดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง mobile broadband และ fixed broadband ควรจะต้องเตรียมความพร้อมออกมาตรการในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และการบริหารระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจากการปรับขยายขีดความสามารถ ในการรับส่งสัญญาณที่ผู้ให้บริการได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อรองรับการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤต COVID-19 เช่น การขยายช่องสัญญาณในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น การเพิ่มอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ และการเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G และระบบสายใยแก้วนำแสง (FTTX) ถึงแม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านการรับบริการอินเทอร์เน็ต ได้ทันต่อสถานการณ์ แต่อาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชน
ได้เข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ เช่น 1.การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ wi-fi สาธารณะ 2.การผ่อนผันการชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ต และ 3.การรวบรวมสื่อออนไลน์ทั้งหนังสือพิมพ์และแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน

·         EIC มองว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะกระตุ้นให้แอปพลิเคชันการสื่อสาร เช่น การประชุมออนไลน์ แพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิง รวมถึงการให้บริการออนไลน์ เช่น internet banking, food delivery ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต อีกทั้งการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารที่มากขึ้นขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรมีการยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชัน เช่น การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร

          ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างทยอยออกนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (work from home) รวมถึงการปิดสถานศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายเชื้อในที่สาธารณะนโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวทางปฎิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในเชิงกายภาพ(social distancing)ที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้
เพื่อควบคุมอัตราการแพร่กระจายของโรค ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการ social distancing ที่เข้มงวดต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กำลังเผชิญตั้งแต่การปิดสถานที่เสี่ยง, การห้ามประชาชนออกจากเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด (curfew), การปิดพรมแดน, การปิดเมืองจนถึงมาตรการปิดประเทศ (lockdown) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ของโลกอย่างรวดเร็วทำให้รัฐบาลกว่า 100 ประเทศประกาศใช้มาตรการปิดประเทศหรือประกาศปิดเมืองที่มีความเสี่ยงเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น รัฐบาลอิตาลีได้ยกระดับมาตรการ social distancing โดยการประกาศปิดประเทศ (lockdown) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2020 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมแตะ 9 พันคนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 100 รายภายในวันเดียว โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ประเมินว่า การประกาศมาตรการ lockdown ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้ประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก หรือราว 3 พันล้านคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งใกล้เคียงกับการประเมินของ Agence France-presse (AFP) สำนักข่าวรายใหญ่ในยุโรป

สำหรับไทย มาตรการ social distancing ได้ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน โดยในวันที่ 26 มีนาคม รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยงรวมถึงการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น สนามแข่งขันกีฬา สถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน ห้างสรรพสินค้า และเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยกระดับความเข้มงวดขึ้นอีกขั้นโดยการประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. (curfew) ส่งผลให้หลายองค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศเริ่มทยอยออกนโยบาย work from home ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกที่พักอาศัย โดยจากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)  พบว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ลงทะเบียนขอใช้งานแพลตฟอร์ม work from home ของกระทรวง DES ในการปฎิบัติงานที่บ้านพักราว 7 แสนคนจาก 865 หน่วยงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2020) และเมื่อรวมกับจำนวนนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องอยู่บ้านจากการประกาศปิดสถานศึกษา ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาอีกราว 11 ล้านคน (จากฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการปีการศึกษา 2019) ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมพนักงานบริษัทเอกชนที่ทำงานจากบ้าน นั่นหมายความว่าในปัจจุบันมีจำนวนประชาชนไทย ที่อยู่บ้านในช่วงกลางวันของวันธรรมดาเพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านคนทั่วประเทศ

           นโยบายการทำงานจากบ้านและการปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ คาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ data traffic จากปริมาณการใช้งานข้อมูลที่พุ่งสูงขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่กระจายตัวในเขตที่พักอาศัยมากขึ้น และช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรับส่งข้อมูล จากข้อมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 ทำให้ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศปิดสถานการศึกษาทั่วประเทศและหลายองค์กรเริ่มออกนโยบาย work from home  โดยการใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่านมือถือ (mobile broadband) เพิ่มขึ้นกว่า 17%MOM จาก 12 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็น 14 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าอัตราการการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงปี 2019 ที่อยู่ราว 7%MOM ในด้านปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลักอย่าง 3BB และ AIS Fibre คาดว่าปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20%MOM จากการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต (work from home) การเรียนออนไลน์ (learn from home) และการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง

นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่อยู่บ้านที่มากขึ้นส่งผลให้ความหนาแน่นของการใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มกระจายตัวอยู่ในแหล่งที่พักอาศัยมากขึ้น รวมถึงช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตตามแหล่งที่พักอาศัยได้ปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จากเดิมที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ (peak traffic) จะอยู่ในช่วงเวลา 16.00-20.00 น. หรือหลังเลิกงานถึงหัวค่ำ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นช่วง 12.00-17.00 น. หรือช่วงกลางวันมากขึ้น ซึ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับความหนาแน่นของจำนวนผู้ใช้งานในช่วงเวลาเดียวกันย่อมส่งผลถึงประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูลที่อาจมีแนวโน้มลดลงดังเช่นในจีน จากผลสำรวจของ Ookla ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พบว่า หลังจากที่จีนประกาศปิดมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ส่งผลให้ความเร็วในการ download ข้อมูลเฉลี่ยผ่าน fixed broadband ในจีนลดลงราว 7% ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการประกาศมาตรการ ขณะที่ความเร็วในการ download ข้อมูลผ่าน mobile broadband ลดลงราว 17%  ซึ่งเป็นผลจากระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันของชาวจีน ที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% จาก 5 ชั่วโมงต่อวันเป็น 7 ชั่วโมงต่อวัน และการใช้งานแอปพลิเคชันการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นราว 58% ส่งผลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์ของจีนต้องขยายขีดความสามารถการรับส่งสัญญาณและเร่งขยายโครงข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการลดลงของความเร็วในการ download ข้อมูลดังกล่าวได้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศที่ออกมาตรการ lockdown จากวิกฤต COVID -19  เช่น อิตาลี และสหรัฐฯ เป็นต้น

รูปที่ 1 : ความเร็วในการ download ข้อมูลผ่าน fixed broadband เริ่มลดลงหลังจากที่จีนและอิตาลีประกาศปิดประเทศ และสหรัฐฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน ขณะที่ความเร็วในการ download ข้อมูลของไทยลดลงเล็กน้อยหลังจากที่รัฐบาลประกาศ curfew และปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในการปรับความเร็วเพิ่มเป็น 100 Mbps

หน่วย : Mbps

Week Starting From December 2019-April 2020

ที่มา : จากข้อมูลของ OOkla

รูปที่ 2 : ความเร็วในการ download ข้อมูลผ่าน mobile broadband ของจีนลดลงกว่า 17% หลังจากที่จีนประกาศปิดประเทศและลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาราว 1 เดือนเป็นผลจากระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันของชาวจีนที่พุ่งขึ้นกว่า 20%MOM และการใช้งานแอปพลิเคชันสื่อสารที่เพิ่มขึ้น 58%

หน่วย : Mbps

           การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั้ง fixed broadband และ mobile broadband และการบริหารระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทยทั้งในส่วนของ fixed broadband และ mobile broadband นั้นมีแนวทางการวางแผนพัฒนาและขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตจึงทำให้มีโครงข่ายที่พร้อมขยายสัญญาณ (Headroom) สนองต่อความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละรายต่างเกาะติดสถานการณ์ COVID-19 อย่างต่อเนื่องและแสดงความพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมหลังพบการใช้งานอินเทอร์เน็ตเริ่มเติบโตสูงกว่าปกติเพื่อให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหาน้อยที่สุด โดยผู้ให้บริการ mobile broadband ทั้ง 3 รายหลักได้ขยายขีดความสามารถการรับส่งสัญญาณมือถือ รวมถึงเพิ่มเสาสัญญาณแบบ small cell และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณเครือข่าย 4G เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้งานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเดินหน้าเร่งขยายโครงข่าย 5G อย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดีด้วยศักยภาพที่สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากกว่าและมีความเร็วในการ download ข้อมูลสูงกว่าเทคโนโลยี 4G ในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ให้บริการ fixed broadband ได้ขยายช่องสัญญาณในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นเพื่อลดปัญหาคอขวดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาเดียวกันของผู้ใช้บริการจำนวนมาก รวมถึงการขยายโครงข่ายระบบสายใยแก้วนำแสง (FTTX) เพื่อตอบรับการใช้งานที่อาจจะพุ่งขึ้นอีกครั้งจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมาตรการการเตรียมความพร้อมดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯและอังกฤษ

นอกจากนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงทั้งการชมวิดีโอและการเล่นเกมส์แบบ streaming ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ความเสถียรในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและความเร็วในการรับส่งข้อมูลลดลง เนื่องจากแพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิงส่วนใหญ่มีอัตราการส่งข้อมูล (bandwidth) ที่ค่อนข้างสูงซึ่งอาจจะรบกวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตประเภทอื่น  เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ให้บริการสื่อมีเดียออนไลน์ต่างให้ความร่วมมือ ในการออกมาตรการควบคู่กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการลดอัตราการส่งข้อมูลลงเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยรักษาความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เช่น Netflix ประกาศปรับลด bandwidth ลงราว 25%  ในประเทศแถบยุโรปและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงไทยเป็นเวลา 30 วัน ขณะที่ Youtube ได้ออกมาประกาศลดความละเอียดวีดีโอเป็นเวลา 30 วันทั่วโลก

            ถึงแม้ว่า ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ซึ่งช่วยรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นแล้ว แต่อาจจะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง อีกทั้งช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  ทาง กสทช. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความสะดวกในการทำงานจากที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต โดยในส่วนของ mobile broadband ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้ใช้บริการที่ใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตต่ำกว่า 10GB สามารถลงทะเบียนขอรับอินเทอร์เน็ตสมทบเพิ่มอีก 10GB ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นระยะเวลา 30 วัน  ขณะที่ผู้ใช้บริการ fixed broadband ในระบบสายใยแก้วนำแสง (FTTX) จะได้รับการปรับความเร็วในการ download ข้อมูลจากผู้ให้บริการเพิ่มเป็น 100 Mbps โดยไม่ต้องลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เป็นระยะเวลา 30 วัน เช่นเดียวกัน

นอกจากมาตรการการเพิ่มปริมาณการใช้งานและการปรับความเร็วการใช้งานแล้ว EIC เสนอว่าภาครัฐอาจจะต้องพิจารณามาตรการอื่นมาใช้ควบคู่เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ wi-fi สาธารณะ ในสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ รัฐบาลได้เปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ประชาชนทุกคนซึ่งรวมถึง ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต 2.การผ่อนผันการชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ตแก่ธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ดังเช่นในอิตาลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้สามารถยืดเวลาการชำระค่าบริการได้โดยไม่ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกับค่าบริการด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ และ 3.การรวบรวมบริการสื่อออนไลน์ รัฐบาลอิตาลีร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศเปิด website กลางภายใต้ชื่อ “Digital solidarity” รวบรวมสื่อออนไลน์ เช่น หนังสือพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์ และแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน (e-learning platform) เช่นเดียวกับจีน รัฐบาลขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์กว่าร้อยรายเปิดห้องเรียนออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้เรียนหนังสือผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก

         การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  จะทำให้เกิดความคุ้นชินและมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งถือเป็นความท้าทาย
ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต
หลังจากที่มีประกาศปิดสถานศึกษาและหลายองค์กรธุรกิจออกนโยบาย work from home ตามมาตรการ social distancing ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตตามแหล่งที่พักอาศัยมีความจำเป็น มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้แอปพลิเคชันการสื่อสาร เช่น การประชุมออนไลน์ แพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิง รวมถึง การบริการแบบออนไลน์ เช่น internet banking และ food delivery ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายจากเดิมที่มีการใช้งานเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งการปรับตัวยอมรับการใช้แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มในช่วงวิกฤต COVID-19 ดังกล่าว จะมีผลต่อวิถีการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากและมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่แบบถาวรของคนไทยที่จะใช้เวลากับกิจกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง mobile broadband และ fixed broadband อาจจะต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมใหม่นี้ เช่น การนำเสนอแพ็กเกจแบบผสมผสานที่ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงควบคู่กับแอปพลิเคชันที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการเรียนออนไลน์ รวมถึงการขยายและพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในเขตแหล่งที่พักอาศัยให้ครอบคลุมมากขึ้น

         การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ได้เร็วขึ้นและพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 ในอนาคต ดังนั้น การยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชันแก่องค์กรธุรกิจควบคู่กับการให้บริการอินเทอร์เน็ตจะสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ

บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/6813