EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว และคาดจะหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 ก่อนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ

0
1618
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัวที่ -1.8%YOY (นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2014 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2011) โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว (technical recession) หลัง GDP แบบ %QOQ sa หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2020 ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ผ่านการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาครัฐมีการเบิกจ่ายล่าช้าทำให้รายจ่ายด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐปรับลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตในหลายพืชสำคัญหดตัวเช่นกัน

EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญคือหากมีการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในระดับที่น่ากังวล ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้

ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นใน
ไตรมาสที่ 2/2020 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก EIC จึงยังคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2/2020 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค. นี้

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอย่างละเอียดของ EIC โปรดติดตามการเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2020 นี้

  • Key points

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัวที่ -1.8%YOY เป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2011 ที่ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว (Recession) จากการที่เศรษฐกิจหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ sa) ติดต่อกัน 2 ไตรมาส (ไตรมาสที่ 4 ปี 2019 -0.2%QOQ sa และไตรมาสที่ 1 ปี 2020 -2.2%QOQ sa)

รูปที่ 1 : การหดตัวของเศรษฐกิจไทยมีลักษณะกระจายตัว (board-based contraction) โดยมีเพียงการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า (ได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำ) ที่ยังคงเติบโตได้แต่ก็ชะลอตัวลงอย่างมีนัย

รูปที่ 2 : พิจารณาจากแหล่งที่มาของการหดตัว อุปสงค์ขั้นสุดท้าย (Final demand) หดตัวถึง -3.2 ppt. แต่ได้การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือ (changes in inventories) เข้ามาช่วยถึง 1.4 ppt. ทำให้ GDP หดตัวแค่ -1.8% YOY

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ได้รับแรงกดดันจากภาคส่งออก
ภาคท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และรวมถึงรายจ่ายภาครัฐ
ที่ลดลงจากความล่าช้าของการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2020

  • มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ -7%YOY
    • การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวหดตัวกว่า -29.8%YOY ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปถึง -38.0%YOY ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
    • แม้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.0%YOY แต่มาจากการส่งออกทองเป็นหลัก โดยการส่งออกทองคำจะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ[1] โดยหากหักผลของทอง มูลค่าการส่งออก[2] ในช่วงไตรมาสแรกจะหดตัว -1.3%YOY โดยเป็นการหดตัวของหลายสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ข้าว รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้ดี จากอานิสงส์ของการ work from home ทั่วโลก ที่ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
  • การลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว –5%YOY หลังจากขยายตัว 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวทั้งในส่วนของลงทุนก่อสร้าง (-4.3%YOY) และลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร (-5.7%YOY) โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์
  • ความล่าช้าของการอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2020 ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายอุปโภคบริโภคของรัฐบาลดลง -2.7%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -9.3%YOY ปัจจัยหลักมาจากการก่อสร้างของรัฐบาลที่หดตัวสูงถึง -29.6%YOY แม้จะมีการขยายตัวของการก่อสร้างรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 8%YOY ส่วนด้านการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรภาครัฐขยายตัวที่ 4.2%YOY
  • การใช้จ่ายเพื่อบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่0%YOY โดยการขยายตัวมาจากใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทน ขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนและกึ่งคงทนมีการหดตัวลงตามกำลังซื้อของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง และผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มส่งผลในช่วงปลายไตรมาส

ในด้านการผลิต (Production Approach) ภาคเกษตรหดตัวมากจากผลของภัยแล้ง ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวตามการส่งออก ส่วนด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการหดตัวในระดับสูง ขณะที่การก่อสร้างหดตัวมากจากทั้งการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนและภาครัฐ

  • ภาคการเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ -5.7%YOY จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลง อาทิ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น
  • การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ -2.7%YOY ตามการลดลงของภาคส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างซบเซา โดยสินค้าสำคัญที่การผลิตหดตัว เช่น ยานยนต์ อาหาร
    การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และยางและพลาสติก
  • สาขาที่พักแรมและอาหารพลิกกลับมาหดตัวสูงถึง -24.1%YOY หลังจากขยายตัว 8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก
  • สาขาการขนส่งและจัดเก็บสินค้าลดลง -6.0%YOY โดยปัจจัยสำคัญมาจากการการหดตัวของการขนส่งทางบก (-4.2%YOY) และการขนส่งทางอากาศ (-20.8%YOY) ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง รวมถึงปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
  • ก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ -9.9%YOY ทั้งจากการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนตามภาวะเศรษฐกิจ
    ในประเทศ และภาครัฐจากการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้า
  • อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายสาขายังขยายตัวแม้จะชะลอลง โดยสาขาสำคัญได้แก่ การขายส่งและ
    ขายปลีกที่ขยายตัว
    5%YOY ชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวที่ชะลอลงได้รับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • Implication

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2020 ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ผ่านภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ สังเกตได้จากภาคการผลิตด้านโรงแรมและภัตตาคารที่หดตัวไปกว่า -24.1%YOY ขณะที่ด้านการส่งออก แม้ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรก แต่การขยายตัวส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำที่จะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัว ซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง -2.7%YOY อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกได้รับผลบวกจากการบริโภคสินค้าจำเป็น (Non-discretionary items) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าก่อนที่จะมีการปิดเมือง นอกจากนี้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในบ้านและ work from home ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เฟอร์นิเจอร์ และการสื่อสาร (ค่าอินเทอร์เน็ต) เป็นต้น (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : การบริโภคภาคเอกชนในประเทศได้รับผลดีจากการบริโภคสินค้าจำเป็น และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอยู่บ้าน และ work from home

ในระยะต่อไป EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 จากผลกระทบมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก โดยการปิดเมืองจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลก (sudden stop) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทย ผ่านเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาด้าน supply chain disruption โดยจากรูปที่ 4 จะเห็นได้ว่าเครื่องชี้การส่งออกของโลก (Global PMI: Export orders) ในเดือนเมษายนลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 จะหดตัวในระดับสูง

รูปที่ 4 : ข้อมูล Global PMI: Export orders บ่งชี้ว่าการส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มหดตัวสูง

นอกจากการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ภาคท่องเที่ยวของไทยก็จะหดตัวในระดับสูงเช่นกัน โดยการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศของไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน (รูปที่ 5) ประกอบกับการปิดเมืองที่ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงภาคขนส่ง และการค้าขายหลายประเภทที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวลึกที่สุดในปีนี้

รูปที่ 5 : นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ตั้งแต่มีการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ

ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานสำคัญว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของ COVID-19 อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาส 2 (%QoQ sa เป็นบวก) แต่หากคำนวณเทียบกับปีก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวทั้งปี 2020 นี้ (%YOY เป็นลบ)

เม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐจะมีส่วนอย่างมากในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2020 โดยมาตรการที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจปีนี้คือ พ.ร.ก. กู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1) วงเงินสำหรับช่วยเหลือรายได้ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและเกษตรกรวงเงินกว่า 5.55 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินบางส่วนไปแล้วตามนโยบายช่วยเหลือเงินผู้ได้รับผลกระทบเดือนละ 5 พันบาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศช่วยเหลือเกษตรกรในจำนวนเงินเท่ากันที่ 5 พันบาทต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือน และ 2) วงเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 4 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท จะไม่ได้เข้าสู่เศรษฐกิจปีนี้ทั้งหมด แต่จะทยอยเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงปัจจุบันจนถึงเดือนกันยายนปี 2021 ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาล
ซึ่ง EIC ประเมินว่าเม็ดเงินดังกล่าวเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่พอสมควร จึงน่าจะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2020 นี้ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปถึงขนาดเม็ดเงินและรายละเอียดนโยบายที่จะมีการจัดทำในระยะต่อไป

โปรดติดตามประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 อย่างละเอียดของ EIC ซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณะในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2020 นี้

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/6828

เขียนบทวิเคราะห์ : ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ (kampon.adireksombat@scb.co.th)

ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดเงิน

พนันดร อรุณีนิรมาน (panundorn.aruneeniramarn@scb.co.th)

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

พิมพ์ชนก โฮว (phimchanok.hou@scb.co.th@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com

[1] การส่งออกทองคำจะไม่ถูกนับใน GDP โดยจะมีการบันทึกบัญชีเพิ่มขึ้นในส่วนของการส่งออก แต่จะบันทึกบัญชีลดลงในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือ ซึ่งในที่สุด การส่งออกทองคำจะไม่มีผลต่อตัวเลข GDP

[2] มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ตามระบบกรมศุลกากร หักทองคำและการส่งกลับอาวุธ