Economic Review & Weekly Update with Global Markets วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568

0
59

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.57-33.78 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม จะหดตัว -0.9%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ทว่า เงินบาทกลับเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หลังราคาทองคำ (XAUUSD) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดีขึ้น ก็มีส่วนเพิ่มแรงกดดันต่อราคาทองคำ

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อก็มีแนวโน้มจะยุติลงได้ภายในปีนี้

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก และรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) รายงานการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ด้วยเช่นกัน

▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งอังกฤษและยูโรโซน อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึง ข้อมูลตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอมนีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจลดดอกเบี้ย 50bps สู่ระดับ 3.75% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.10% ตามการชะลอตัวลงของภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% เพื่อรอแรงกดดันต่อเงินรูเปียะห์ (IDR) อีกทั้งเพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 พร้อมกับ รอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้ หากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาสดใส สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราปรับมุมมองระยะสั้นใหม่ ว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน และมีโอกาสที่เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ จนกว่าจะเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาท จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เราประเมินว่า ในช่วงนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะสามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าขึ้นผ่านโซนดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ต้องปรับลดสถานะดังกล่าว หรือ Cover Short ซึ่งอาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ และหากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าว จะสะท้อนว่า แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจยังดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจะมีโซนแนวรับถัดไปในช่วง 33.30 บาทต่อดอลลาร์ อนึ่ง เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้มากนัก หากราคาทองคำ (XAUUSD) เข้าสู่ช่วงการปรับฐาน (Correction) และเงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้นได้ ในกรณีที่ ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง ซึ่งอาจต้องเห็นการปรับตัวลงของราคาทองคำหลุดโซนแนวรับ 2,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่ชัดเจน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ภายใต้ความผันผวนสูง โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่อาจย่อตัวลงบ้าง) ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน ที่จะชี้ชะตาแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าก็อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือตลาดกลับมากังวลปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) และประเด็นการเมืองเยอรมนีที่อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.35-34.25 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์