กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ร่วมให้ข้อมูลสรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหว วันที่ 14 เมษายน 2568 เวลา 14.27 น. ขนาด 3.5 ณ จังหวัดกระบี่ ใกล้รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว โดย อว. ได้มุ่งมั่นผลักดันนโยบายด้านการเฝ้าระวังและเตือนภัย ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้จากนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการประเมินความเสี่ยง การเตือนภัย และการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ จังหวัดกระบี่

ใกล้รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่ถูกจัดว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แม้แผ่นดินไหวในภาคใต้จะมีความถี่ต่ำเมื่อเทียบกับภาคเหนือและภาคตะวันตก แต่ก็สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องไม่ประมาท ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เชื่อถือได้ เช่น กรมทรัพยากรธรณี และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กับประชาชน โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง จึงได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมพร้อมในการเผชิญเหตุ รวมถึงการลดความเสี่ยงและผลกระทบในระยะยาว โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ได้จัดทำและสนับสนุนผลงานวิจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศ
นอกจากนี้ วช. ยังได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยในหลากหลายประเด็นสำคัญ อาทิ การศึกษารูปแบบและลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบในเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความตระหนักรู้และการเตรียมความพร้อมของชุมชน และการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 14 เมษายน 2568 ใกล้รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีได้จัดให้เป็นหนึ่งใน 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังที่ควรเฝ้าระวัง โดยมีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต ถึงแม้ว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ยจะจัดเป็นรอยเลื่อนมีพลัง แต่จากข้อมูลทางวิชาการและสถิติการเกิดแผ่นดินไหว พบว่ารอยเลื่อนในภาคใต้มีความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวในระดับต่ำกว่ารอยเลื่อนในภาคเหนือและภาคตะวันตก
โดยส่วนใหญ่ตรวจพบเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กในระดับประมาณ 3.0 รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยจึงมีความน่าจะเป็นในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับรอยเลื่อนมีพลังอื่น แต่การเตรียมความพร้อมและการออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดให้มีมาตรฐานการออกแบบอาคารที่แตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ประชาชนที่พบความเสียหายของอาคาร ซึ่งโดยทั่วไปควรเป็นเพียงความเสียหายทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น ควรปรึกษาหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเสียหายและประเมินความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกและรับฟังข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำจากหน่วยงานทางการที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย และการเตรียมความพร้อมที่ถูกต้องตามหลักในการรับมือกับภัยแผ่นดินไหว โดย วช. จะดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยใช้ชุดข้อมูลจากงานวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถของประเทศในการประเมินความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน