DITP คาดแนวโน้มส่งออกอาหารไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ เดินหน้ามาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิด -19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า

0
1332

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) คาดการณ์ทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัยสนับสนุน คุมเข้มมาตรการในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ภาคเอกชนกลุ่มผู้ส่งออกอาหารไทย พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมเดินหน้า“โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety)  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย 

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 มีมูลค่า 164,146 ล้านบาท โดย 5 อันดับสินค้าเกษตรอาหารส่งออก ได้แก่ 1.มันสำปะหลัง 2.ข้าว 3.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 4.ไก่แปรรูป 5.ไก่สดเย็น แช่แข็ง  และ 5 อันดับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ 1.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 2.ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 3.อาหารสัตว์เลี้ยง 4.เครื่องดื่ม 5.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 

สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน และราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและสับปะรด รวมไปถึงการกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย 

“สถานการณ์ของโรคโควิด -19 ในประเทศไทยที่ยังคงระบาดอย่างหนักในระลอกใหม่ ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบไปในทุกภาคส่วน ด้านการส่งออกสินค้าอาหาร จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งยกระดับกระบวนการผลิต โดยออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน”  นายสมเด็จ กล่าว

สำหรับมาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ ให้มีการคุมเข้มในความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ดังนี้​

 

  • ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบและภาชนะบรรจุ ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งผัก ผลไม้ ต้องควบคุมการเข้าออกสถานที่ เช่น การเซ็นชื่อ การคัดกรอง พร้อมจัดเก็บข้อมูลบุคลากรที่ปฏิบัติงานและที่มากับรถขนส่ง การทำความสะอาดรถขนส่งวัตถุดิบ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนขณะปฏิบัติงาน 
  • การควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ตั้งแต่การรับวัตถุดิบผัก-ผลไม้ การแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานที่ปฏิบัติงาน ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และหน้ากาก การล้างมือในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์  
  • การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน โดย สถานที่และอาคารผลิต ให้มีการควบคุมทางเข้าและออก จัดสถานที่อาคารผลิต ห้องประชุม โรงอาหาร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องสุขาให้เหมาะสม เพื่อลดความแออัด รวมถึงระบบระบายอากาศและเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคารผลิต ระบบสุขาภิบาล จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ที่ล้างมือ สบู่เหลว น้ำยาฆ่าเชื้อโรค กระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง ถังขยะที่มีฝาปิดและไม่ใช้มือสัมผัส การแสดงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง การทำความสะอาด เคร่งครัดในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะกินข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความถี่ที่เหมาะสม บุคลากรให้มีมาตรการคัดกรองพนักงานก่อนเข้าสถานที่ทำงาน โดยจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามย้อนกลับ ขณะทำงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สวมใส่ถุงมือ รองเท้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และป้องกันการปนเปื้อนระหว่างปฏิบัติงาน การอบรม ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าผ่าน “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งภาคเอกชนในกลุ่มผู้ส่งออกอาหารไทย พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

   อย่างไรก็ดี สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก  31,284  ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.1 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.32 จากร้อยละ  2.49  ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 11 ในปีก่อน