วิจัยกรุงศรีมองเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แต่ยังกระจุกตัวและมีความไม่แน่นอนคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.4% (ไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต) จาก 2.5% ในปี 2566

0
550

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดย วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้การเติบโตจะยังไม่กระจายตัวและมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในประเทศ

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า “วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคนก็ตาม 2) การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.3% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 3) การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 ภายหลังจากการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณในปีงบฯ ก่อน) ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 3.0% ตามลำดับ จากที่คาดว่าจะหดตัวในปี 2566 และ 4) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นที่ 3.5% ตามการเติบโตของภาคบริการและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ เนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 จากที่คาดว่าจะหดตัว
-1.5% ในปี 2566 อันเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น
การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 2.0%

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่มากในอนาคต

“แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดย IMF คาดว่า GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 จะเติบโตที่ 4.5% ในปี 2567 เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566 สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับเพิ่ม ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษที่อาจกดดันเศรษฐกิจและภาคการเงินในประเทศแกนหลักของโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป” ดร.พิมพ์นารา กล่าวเพิ่มเติม