Breast Cancer Awareness Month 2022 เพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ปิดช่องว่างการดูแล..เติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

0
1110

เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม Breast Cancer Awareness Month 2022ที่ถือว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ปีนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 1 ได้แก่ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ รพ.กรุงเทพเมืองราช รพ.กรุงเทพเพชรบุรี และ รพ.กรุงเทพหัวหิน ได้ผสานความร่วมมือกับ มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

จัดโครงการ เพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ปิดช่องว่างการดูแล..เติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ตรวจค้นหามะเร็งเต้านมสัญจร โดยจัดรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัลแบบประสิทธิภาพสูง (Mobile Digital Mammogram and Ultrasound) ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการตรวจค้นหาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมให้ผู้หญิงไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามจุดบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในภาคตะวันตก ได้แก่ จุดบริการสำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 ตุลาคม 2565 จุดบริการ รพ.กรุงเทพหัวหิน ในวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2565 จุดบริการ รพ.กรุงเทพเพชรบุรี จ.เพชรบุรี วันที่ 20-22 ตุลาคม 2565 จุดบริการ รพ.กรุงเทพเมืองราช จ.ราชบุรี วันที่ 23-25 ตุลาคม 2565 และจุดบริการ รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ จ.นครปฐม วันที่ 26-28 ตุลาคม 2565 รองรับกลุ่มเป้าหมาย 50 คน ต่อจุดบริการ

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในประเทศไทย สถิติจาก องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เผยว่าข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่ามีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 60 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ราว 8,270 คน หรือคิดเป็น 23 คนต่อวัน แนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2583 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 27,600 คนต่อปี โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 1 จึงได้ริเริ่มโครงการค้นหามะเร็งเต้านมสัญจร ด้วยรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัลนี้

เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงการตรวจมะเร็งเต้านมในกรุงเทพมหานครและภาคตะวันตก และหากพบมีความผิดปกติจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น ทางโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนการดำเนินการตรวจ โดยมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ สำนักงานเขตห้วยขวาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการช่วยคัดเลือกผู้เข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมในแต่ละจังหวัด

ที่ผ่านมา ปี 2562 ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ ร่วมกับ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโสถ ได้จัดทำโครงการผ่าตัดฟรี ให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ จำนวน 32 ราย และในปีนี้ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง ในการสนับสนุนการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม ด้วยรถ Mobile Digital Mammogram และ Ultrasound ให้กับผู้หญิงที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงการตรวจ ทั้งนี้มูลนิธิเวชดุสิตฯ ได้ช่วยสังคมไทยในด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การช่วยเหลือในด้านเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ แด่โรงพยาบาลรัฐบาล สนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์ และการมอบวัคซีนนอกบัญชี อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนสิ่งของซึ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ผู้ด้อยโอกาสอยู่เสมอ

ชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ครั้งนี้ขอขอบคุณโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และ มูลนิธิเวชดุสิตฯ ที่ได้จัดทำโครงการ “ตรวจคันหามะเร็งเต้านมแก่ผู้ยากไร้” ในพื้นที่เขตห้วยขวาง จำนวน 50 ราย ได้ประสานความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่าย กับหน่วยงานในพื้นที่เขตคัดเลือกประชาชนมารับการตรวจในวันอังคาร ที่ 11 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้าน : สุขภาพดี ตามโครงการตรวจเต้านมให้กับสตรียากไร้กลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับการตรวจมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคที่พบมากอันดับต้น ๆ ในสตรีไทย การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง หากได้ตรวจพบความผิดปกติ จะได้รักษาได้ถูกต้อง และทันท่วงที ทั้งลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตที่จะตามมาอีกด้วย

นพ.วีระศักดิ์ พงษ์พัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.กรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า รพ.กรุงเทพหัวหิน ขอขอบคุณการสนับสนุนจากทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ ที่ทำให้เกิดโครงการนี้ที่จะช่วยดูแลสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิต แก่ประชาชนที่ขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในอำเภอหัวหิน และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยโรงพยาบาล ประสานงานกับกองสาธารณสุข เทศบาลเมืองหัวหิน ในการเปิดรับสมัครสตรี อายุ 35 ปีขึ้นไปที่อยู่ในจ.ประจวบคีรีขันธ์ และทำการคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ท่าน เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และขาดโอกาสไม่เคยรับการตรวจแมมโมแกรมมาก่อน หรือเคยตรวจห่างจากครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 1 ปี ไม่เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรืออยู่ระหว่างการรักษา หรือมีประวัติเป็นโรคมะเร็งในครอบครัว โดยจะให้บริการตรวจ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ในวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2565

นพ.ภูดิท พึ่งจันทรเดช ผู้อำนวยการ รพ.กรุงเทพเพชรบุรี และรพ.กรุงเทพเมืองราช กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานะการณ์มะเร็งเต้านมในเขตจังหวัดราชบุรีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 17.16 ต่อแสนประชากร รวมถึงจังหวัดเพชบุรีที่มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 3.11 ต่อแสนประชากร ทำให้ทั้ง 2 จังหวัดมีกลุ่มผู้มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่รอคิวในการทำแมมโมแกรมซึ่งต้องรอนาน เนื่องจาก รพ.ราชบุรี มีผู้รอรับบริการจำนวนมาก โครงการตรวจมะเร็งเต้านมสัญจรของมูลนิธิเวชดุสิตฯ จะช่วยให้โอกาสแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เข้าถึงการรักษาได้อย่างทันเวลา การคัดเลือกผู้มีความเสี่ยง ได้ประสานงานกับ สสจ. เพชรบุรีและ รพ.พระจอมเกล้า รวมถึงรพ.กรุงเทพเมืองราช ได้ประสานงานกับ สสจ. ราชบุรี เพื่อรับสมัครผู้มีความเสี่ยง เข้ารับการตรวจ ณ รพ.กรุงเทพเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ในวันที่ 20-22 ตุลาคม 2565 และ รพ.กรุงเทพเมืองราช จ.ราชบุรี ในวันที่ 23-25 ตุลาคม 2565

นพ.ชลิต ทองประยูร ผู้อำนวยการ รพ.กรุงเทพ สนามจันทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลังในปี พ.ศ.2561-2563 มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเต้านมในจังหวัดนครปฐม ในช่วงอายุ 30-44 ปี คิดเป็น 15.14% ช่วงอายุ 45-59 ปี คิดเป็น 32.04% เเละอายุ 60 ปีขึ้นคิดเป็น 42.9% ทำให้เห็นได้ว่าว่าผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมจะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป เเละผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมในปี 2563 สูงถึง 92 ราย ในการตรวจมะเร็งเต้านมสัญจรในครั้งนี้ ได้ประสานงานกับ สสจ.นครปฐม เพื่อรับสมัครผู้มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม โดยจะให้บริการ ณ รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ จ.นครปฐม ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2565

โรคมะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หากเรารู้เท่าทัน และป้องกัน เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เรามาร่วมกัน “ ปิดช่องว่างการดูแล เติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม” ด้วยการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน หากพบความผิดปกติ ควรพบแพทย์ เพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียจากโรคมะเร็งเต้านม