จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าจากผลสำรวจประชากรครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 19.6 ของประชากรทั้งหมด หรือ 13.36 ล้านคน และถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว เนื่องจากมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20 และถ้าสถานการณ์โครงสร้างของประชากรไทยยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงขึ้นถึงร้อยละ 20) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม
สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพของข้าราชการอาวุโส ตลอดจนบุคคลในครอบครัวผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จึงได้ร่วมกับสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมให้ความรู้เรื่อง “การสร้างเสริมป้องกันสุขภาพด้วยวัคซีน” ให้แก่สมาชิก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากผู้สูงอายุมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงตามอายุ ทำให้ร่างกายมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้น้อยลง ดังนั้นการได้รับวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการป่วยหนัก และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
พญ.สุดา พันธุ์รินทร์ อายุรแพทย์ประจำคลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวภายในงานว่า โดยปกติผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว มีภาระโรค มีความเปราะบางเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ จึงควรเร่งสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ผ่านการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนหลักๆที่แนะนำ ให้แก่ผู้สูงอายุ ได้แก่ 1. วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ 2. วัคซีนโรคบาดทะยัก 3. วัคซีนโรคปอดบวม และ 4. วัคซีนโรคงูสวัด ซึ่งการป้องกันโรคด้วยวัคซีนถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า และมีความปลอดภัยมากที่สุด
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังเข้าสู่การระบาดในช่วงฤดูฝน และยังระบาดอีกระลอกในช่วงฤดูหนาว ตามรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 354,074 ราย เสียชีวิต 29 ราย โดยสัดส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากที่สุด คือ เด็กอายุ 0-14 ปี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สัดส่วนกลุ่มผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งไข้หวัดใหญ่ถือเป็นตัวนำร่องสู่การเสียชีวิตของผู้สูงอายุได้ ทำให้โรคประจำตัวกำเริบขึ้นได้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบ โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือไตวาย เป็นต้น
นายธรรมรักษ์ การพิสิฐษ์ นายกสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย พลโทไกรเทพ อนุศักดิ์ ตัวแทนชมรมมิตรประดู่ และ พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ และคณะกรรมการสมาคม ซึ่งเข้าร่วมงานดังกล่าว ได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่เห็นความสำคัญและห่วงใยข้าราชการและครอบครัว และมองหาแนวทางปรับปรุงเกณฑ์การเบิกจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการริเริ่มโครงการนำร่องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) ให้แก่ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดความรุนแรงของโรค และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตลอดจนลดอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ เสมือนเป็นกำลังใจแก่ข้าราชการที่ทุ่มเททำงานอย่างอุตสาหะตลอดอายุราชการ ทั้งนี้ ตนมองว่าการลงทุนในด้านสุขภาพเป็นการลงทุนในระยะยาว วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จึงเปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะสามารถลดความเสี่ยงในการป่วยหนัก ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้ง น่าจะสามารถลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการรักษาผู้สูงอายุได้ในระยะยาว
ในทุกปี สปสช. ร่วมกับกรมควบคุมโรค ได้จัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มเสี่ยง ภายใต้สิทธิบัตรทอง และรณรงค์ให้รับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสถานพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ดี ด้วยตระหนักถึงภัยของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ตลอดจนความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในปี 2567 นี้ กรมบัญชีกลาง จึงได้ขับเคลื่อนโครงการนำร่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) ให้แก่ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยได้จัดงานเปิดตัวโครงการขึ้น ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลางสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ สถานพยาบาลของทางราชการทั่วประเทศ
จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีสิทธิเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลางที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 สิงหาคม 2567 ในโครงการนำร่องระยะที่ 1 ซึ่งได้จัดสรรวัคซีนไว้ 50,000 โดสทั่วประเทศ กระจายไปยังสถานพยาบาลของทางราชการทั่วประเทศ 99 แห่ง ใน 77 จังหวัด พร้อมมีแผนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะที่ 2 สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมบัญชีกลาง ได้ที่ www.cgd.go.th หรือค้นหารายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://shorturl.asia/3ShuU