BKI เผยผลการดำเนินงานปี 64 กำไรกว่า 1,055 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับปี 65 เติบโต 5% เน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพการบริการ

0
1441

กรุงเทพประกันภัยเผยผลการดำเนินงานปี 2564 มีกำไรสุทธิ 1,055.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61.0 พร้อมจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งปี 15 บาท/หุ้น ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับในปี 2565 เติบโตร้อยละ 5 โดยเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า แม้บริษัทฯ จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการในช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในปีที่ผ่านมาแต่บริษัทฯ ยังสามารถสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2564 สูงถึง 24,511.0 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.2  ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19 ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิจากการรับประกันภัย 383.4 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,498.3 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ยังคงมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ 1,055.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.92 บาท 

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ยังคงต้องประสบกับความท้าทาย​ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สายพันธุ์ Omicron ที่ยังคงมีการระบาดต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Disruption ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก ต้นทุนการขนส่งสินค้า ราคาพลังงาน และวัตถุดิบในการผลิตมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ตลอดจนภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง 

สำหรับในภาคธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการประเมินว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2565 นี้ จะเติบโตร้อยละ 1.5 – 2.5 ด้วยปัจจัยบวกจากการส่งออกของประเทศที่ยังคงเติบโตในระดับสูงแม้จะได้รับผล​      กระทบบ้างจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ตาม เช่นเดียวกับภาคธุรกิจขนส่งในประเทศที่เติบโตตามการซื้อสินค้าและขายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องในส่วนของประกันภัยมารีน นอกจากนี้ การประกันภัยเดินทาง และประกันภัย Aviation ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตามปกติภายในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับการประกันอัคคีภัยที่จะได้รับประโยชน์จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอย่างมากจากมาตรการของรัฐบาลเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองและการโอน รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ Loan To Value Ratio ของธนาคารแห่งประเทศไทย
    สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั้นจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่น่าจะเติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากเติบโตติดลบมา 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายเติบโตถึงร้อยละ 13.3 (ข้อมูลจาก Toyota Motor) รวมถึงการแข่งขันด้านอัตราเบี้ยประกันภัยในตลาดประกันภัยรถยนต์ที่น่าจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่การใช้รถยนต์และอัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ด้านประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้นจะได้รับผลบวกจากอัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้  

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 อาจได้รับผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพที่น่าจะเติบโตติดลบ เนื่องจากการขาดหายไปของเบี้ยประกันภัย COVID-19 ที่มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพทั้งหมด แม้จะได้รับผลบวกจากการที่ประชาชนตระหนักมากขึ้นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังจะส่งผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยที่คุ้มครองภัยธรรมชาติ ผนวกกับต้นทุนค่าสินไหมทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ค่าจ้างแรงงาน ค่าอะไหล่รถยนต์ หรือวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งภาคธุรกิจประกันภัยยังต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ๆ ของภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเริ่มประกาศใช้ในปีนี้ เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจตามภายใต้หลัก ESG ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดในการรับประกันภัยและการลงทุนในธุรกิจบางประเภท 

ด้านทิศทางการดำเนินงานของบมจ.กรุงเทพประกันภัย ในปี 2565

    บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตร้อยละ 5.0 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สอดคล้องกับปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน และให้ความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาผลประกอบการด้านการรับประกันภัยซึ่งยังเปราะบางอยู่มากจากผลการรับประกันภัย COVID-19 ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถเติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายจึงมั่นใจว่าบริษัทฯ จะบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยปีนี้ได้อย่างแน่นอน โดยกลยุทธ์ที่สำคัญยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาบริการหลังการขายให้มีความสะดวกรวดเร็วตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นด้วยมีความเชื่อว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะทำให้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยลง และพิจารณาถึงความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนคุณภาพการบริการของบริษัทประกันภัยมากกว่าการพิจารณาเรื่องเบี้ยประกันภัย ในปี 2565 บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย

เพื่อส่งเสริมคุณภาพการให้บริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าและคู่ค้า ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังนี้

  • การดำเนินโครงการ Core Business System (CBS) ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับบริษัท Sapiens International Corporation จากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประกันภัยชั้นนำระดับโลกที่ช่วยออกแบบและพัฒนาระบบงานหลักของบริษัทฯ ทดแทนระบบเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและออกแบบอย่างเป็นสากล ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานหลัก
    ทั้งกระบวนการรับประกันภัยจนถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (End-to-end Solutions) รวมถึงระบบการรับประกันภัยต่อซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นช่วยเสริมการทำงานในด้านการบริหารจัดการข้อมูล และเพิ่มคุณภาพในการให้บริการลูกค้าหรือคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้อย่างสูงสุด
    ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย
  • การสร้าง Cognitive Insurance Platform ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงผ่านระบบ Digital Service ต่างๆ โดยในปีนี้มีแผนงานพัฒนา Online Website ใหม่ของบริษัทฯ โดยยึดแนวทางการพัฒนาและออกแบบระบบ Customer Data Platform (CDP) เพื่อจัดเก็บข้อมูลลูกค้าจาก Source ต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบการขายประกันออนไลน์ในรูปแบบ Personalize Insurance โดยใช้เครื่องมือ Google Cloud Technology เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล และวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อเสนอขายประกันที่ตอบโจทย์และตรงกับ Lifestyle ของลูกค้าแต่ละราย 
  • แผนงานการขยายพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้ารายใหม่ๆ โดยเชื่อมต่อระบบกับคู่ค้าด้วยเทคโนโลยี API ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถขยายช่องทางการสื่อสารที่ให้ความสำคัญของการประกันภัยไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นผ่านเครือข่ายของพันธมิตร 
  • AI Voice Chatbot กรุงเทพประกันภัยเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวของไทยที่นำระบบนี้มาให้บริการลูกค้าในการแจ้งเคลมสินไหมทดแทนยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ระบบ Inbound Voice Chatbot ให้บริการลูกค้าด้วยน้ำเสียงเสมือนจริง โดยการสอบถามข้อมูลของลูกค้าเบื้องต้นเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลไปยังพนักงานที่ให้บริการได้ตรงกับความต้องการได้ทันที และในปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาระบบ Outbound Voice Chatbot เพิ่มเติม เพื่อสามารถติดต่อไปยังลูกค้าได้อัตโนมัติ เช่น การเตือนต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย
  • บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อก้าวเข้าสู่จักรวาล Metaverse เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนสินค้าบนโลกเสมือนจริง พร้อมขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้าน Metaverse
  • สำหรับด้านการขยายตลาด บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองสอดรับกับรูปแบบของความเสี่ยงภัยใหม่ๆ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประกันภัย Motor for EV ที่สนับสนุนการเติบโตของรถ EV และการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG, การประกันสุขภาพ Health IPD+OPD ที่ครอบคลุมถึงการให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine), การประกันภัยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME Total ให้ความอุ่นใจกับความคุ้มครองภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ และประกันภัยไซเบอร์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองความรับผิดของธุรกิจจากการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA Cover) เป็นต้น 

    ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งกรุงเทพประกันภัยมุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการให้บริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าและคู่ค้าด้วยการคัดสรรสิ่งที่ดีและตอบโจทย์ทุกความต้องการที่หลากหลายให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุค New Normal อย่างแท้จริง