บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเตรียมเสนอขายผ่านธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายนนี้ ที่ช่วงราคาเสนอขาย 15.50-17.50 บาทต่อหุ้น โดยผู้ลงทุนสามารถจองซื้อที่ราคาเสนอขายสูงสุดและทางบริษัทฯจะคืนเงินส่วนต่างในกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรหรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นสามัญของ BAM จะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยรายละเอียดจะได้มีการแจ้งให้ทราบต่อไป
การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนที่จะได้ร่วมต่อยอดความสำเร็จไปกับผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ในระบบสถาบันการเงินของประเทศ พร้อมสร้างการเติบโตในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนผ่านจุดแข็ง 6 ประการ โดยบริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO ด้วยจำนวนรวมกันไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และนอกจากนี้ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่าย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมั่นใจในแผนการระดมทุนว่า “เราเชื่อมั่นศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ BAM ในระยะยาวและมีความยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มาร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปกับธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ซึ่งมีความพร้อมด้วยจุดแข็ง 6 ประการ ประกอบด้วย 1) BAM คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศโดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม (ตามข้อมูลในรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด) และ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 20 ปี 2) มีเครือข่ายสาขามากที่สุด โดยมีสำนักงานใหญ่และสาขารวม 26 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานกว่า 1,200 คน ช่วยให้บริษัทสามารถติดตาม และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประเมินราคาทรัพย์สินได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทมีช่องทางและฐานลูกค้าที่กว้างขวางทั่วทุกภูมิภาค สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย และนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี 3) มีผลการดำเนินงานในการจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ที่แข็งแกร่ง 4) มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม 5) มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและยั่งยืนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต และ 6) กรรมการและทีมผู้บริหารระดับสูงของ BAM ล้วนมีประสบการณ์และผลงานเป็นที่ยอมรับ”
สำหรับผลการดําเนินงานและฐานะทางการเงินของ BAM ระหว่างปี 2559-2561 นั้น มีรายได้เติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี มีกําไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2562 BAM มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท อีกทั้ง BAM ยังมีศักยภาพในการเติบโตจาก NPLs และ NPAs ในระบบธนาคารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกันมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ NPLs ของ BAM กว่า 2.4 เท่า (ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกัน = 195,554 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 79,136 ล้านบาท) และราคาประเมินของ NPAs ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่า มูลค่าทางบัญชีกว่า 2.3 เท่า (ราคาประเมิน = 54,467 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 23,245 ล้านบาท)
BAM มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.0 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย สําหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAM มีอัตราการจ่ายเงินปันผล ที่ 80%, 97% และ 60% ตามลำดับ
“เราขอย้ำว่า การเสนอขายหุ้นครั้งนี้ ประชาชนทั่วไปทุกคนสามารถจองซื้อได้ การกระจายหุ้นให้บุคคลทั่วไปจะจัดสรรผ่านกระบวนการสุ่มเลือก (Random) โดยระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ภายหลังจาก BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว นอกจากนำเงินไปชำระหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ยังจะมีเงินทุนส่วนหนึ่งในการร่วมประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยทำให้ราคาซื้อขายดีขึ้น ลดภาระลูกหนี้ในการผ่อนชำระต่อ หรือมีความสามารถในการซื้อทรัพย์สินกลับมาเป็นเจ้าของบ้าน บริษัทเน้นการบริหารมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว” นางทองอุไร กล่าว
ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นไอพีโอของ BAM ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ช่วงราคาเสนอขาย 15.50-17.50 บาทต่อหุ้น (ประชาชนทั่วไปจะต้องจ่ายเงินจองซื้อ 17.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทฯ จะคืนเงินส่วนต่างในกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรหรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย) ที่ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยผู้จองซื้อที่เป็นประชาชนทั่วแต่ละรายจะได้รับการจัดสรรสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านหุ้นต่อหนึ่งราย ทั้งนี้ ผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Lead Underwriters หรือ “UWs”) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (จำกัด) และ ตัวแทนจำหน่ายหุ้นขอสงวนสิทธิในการปิดรับจองซื้อหุ้นก่อนครบกำหนดระยะเวลาการจองซื้อ หากพบว่าจำนวนหุ้นที่รับจองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นทุกรายรวมกันมีจำนวนเท่ากับหรือสูงกว่า 1,765 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นสามัญของบริษัทจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยผู้สนใจลงทุนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bam.co.th