SAWAD ยันประกาศคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ สคบ. กระทบธุรกิจต่ำ  ย้ำอยู่ระหว่างเฮียริ่งยังไม่ชัดเจน ลุยปรับทัพองค์กร ผนึกพันธมิตร เพื่อเติบโตก้าวกระโดด 

0
1283

ศรี​สวัสดิ์ คอร์ปอเรชัน ชี้ประเด็นกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ของ สคบ.อยู่ระหว่างขอความเห็นประชาพิจารณ์ ยังไม่ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ด้านผู้บริหาร ‘ธิดา แก้วบุตตา’ ย้ำชัดกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างต่ำ หลังบริษัทฯปรับทัพองค์กรขนานใหญ่รองรับหลากหลายธุรกิจเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต ด้าน ‘วิชิต พยุหนาวีชัย’ หวั่นกระทบประชาชนฐานรากและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่ อาจลุกลามถึงเศรษฐกิจระดับมหภาค

ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  SAWAD เปิดเผยว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีข้อเสนอขอความเห็นประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) เรื่องกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างต่ำ เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายธุรกิจที่ SAWAD ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่ผ่านมาศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่นได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับธุรกิจที่หลากหลาย ไม่พึ่งพิงเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนี่งเพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่นคงขององค์กร และธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตและสร้างผลกำไรแบบก้าวกระโดดในอนาคต อาทิ การจับมือร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อรุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถ  การผนึกพันธมิตร บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL)และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนายหน้าประกันภัย หรือแม้แต่ธุรกิจเช่าซื้อ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจจำนำทะเบียนรถ จำนำบ้านและที่ดินที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จึงมีความมั่นใจว่าร่างประกาศของ สคบ ดังกล่าว หากเกิดขึ้นจริงก็จะกระทบต่อธุรกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ร่างประกาศดังกล่าวยังเป็นเพียงการขอความเห็นประชาพิจารณ์ ยังไม่ถูกกำหนดเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งบริษัทยังคงติดตามเรื่องนี้ต่อไป

วิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด หรือ SCAP ดูแลธุรกิจกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล มีความเห็นสอดคล้องกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ที่มองว่าธุรกิจเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นธุรกิจที่แบกรับความสี่ยงค่อนข้างสูง ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานล่าง ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ เกษตรกร ลูกจ้างร้านอาหาร ลูกจ้างโรงงาน พ่อค้าหาบเร่ แผงลอย และไม่มีหลักฐานทางการเงินใดๆ ซึ่งถือเป็นลูกค้าระดับรากหญ้าของประเทศ มีรายได้น้อยไม่สม่ำเสมอ ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มนาโนไฟแนนซ์หรือ พิโคไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยมีเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 33-36% และโครงสร้างธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 32-35% และต้นทุนดำเนินงานเฉลี่ย 27% จึงมองว่าควรกำหนดเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่อัตราเดียวกับนาโนไฟแนนซ์ หรือ พิโคไฟแนนซ์ เนื่องจากสถิติพบว่ากลุ่มลูกค้าผิดนัดชำระสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ และการอนุมัติสินเชื่อประเมินความเสี่ยงได้ยาก เพราะลูกค้ามีแค่บัตรประชาชนใบเดียวในการขออนุมัติสินเชื่อออกรถจักรยานยนต์ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้านี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถให้สินเชื่อลูกค้าในกลุ่มนี้ได้ต่อไป การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจนเกินไปจะบีบให้ผู้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อได้ยากขึ้น หรือต้องมีการเรียกเงินดาวน์ที่สูง หรือต้องใช้เงินก้อนในการออกรถจักรยานยนต์  จะเป็นการผลักให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้าสู่วังวนของเงินกู้นอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรถจักรยานยนต์ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเพราะการเดินทางโดยรถยนต์สาธารณะของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในส่วนภูมิภาค หรือแม้แต่ประชาชนในเมืองใหญ่  

“หากมองในเศรษฐกิจมหภาค ร่างประกาศนี้จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศอย่างมาก  เพราะเมื่อประชาชนไม่สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ได้ โรงงานผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้  ประชาชนที่เป็นพนักงาน ลูกจ้างในวัฎจักรการผลิตรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ของประเทศก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย” วิชิต กล่าวทิ้งท้าย