วิจัยกรุงศรีชี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง แม้มีแนวโน้มเพิ่มตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นเริ่มมีสัญญาณฟื้น

0
1314

วิจัยกรุงศรีระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนกลับมาขยายตัวหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาระค่าครองชีพ อยู่ที่ 1.68% YoY สูงสุดในรอบ 4 เดือน และเป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งจาก -0.02% เดือนสิงหาคม โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา) กอปรกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (+32.4%) และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดบางชนิด เช่น ไข่ไก่ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.19% จาก 0.07% เดือนสิงหาคม สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.83% และ 0.23% ตามลำดับ

 

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เงินเฟ้อยังคงได้แรงหนุนจาก (i) แนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (ii) กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามลำดับภายหลังการระบาดบรรเทาลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุม (iii) การอ่อนค่าของเงินบาท นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมอาจกระทบต่อต้นทุนสินค้าบางรายการได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางการมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและต้นทุนของผู้ประกอบการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราเงินเฟ้อจึงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นธุรกิจขยับขึ้น แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ในเดือนกันยายน ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การระบาดที่บรรเทาลง การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน สู่ระดับ 41.4 จาก 39.6 ในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นการปรับขึ้นในทุกองค์ประกอบ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สู่ระดับ 42.6 จาก 40.0 เดือนสิงหาคม จากการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นด้านต้นทุนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและเหล็กที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับขึ้นเหนือระดับ 50 (ขยายตัว) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่ 50.7 จาก 46.8

แม้มีสัญญาณเชิงบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เริ่มปรับขึ้น แต่ยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการระบาด ขณะที่เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังมีความไม่สม่ำเสมอ ท่ามกลางบาดแผลทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด ซึ่งส่งผลต่อภาคท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ การจ้างงาน รายได้ และภาระหนี้ของภาคครัวเรือน นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วม และปัญหาทางการเมืองในประเทศยังเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจกดดันความเชื่อมั่นเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัว ล่าสุดทางการออกมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินราว 47 พันล้านบาท โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจำนวน 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (พฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565) ทางการคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยรักษาระดับการจ้างงานธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน จํานวนกว่า 4 แสนแห่ง และรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวนกว่า 5 ล้านคน

ข้อมูลเพิ่มเติม 

 วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home

อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com