“คลินิกแก้หนี้ by SAM” รับโควิด-19 ทำหนี้พุ่ง ทุบดอกเบี้ยบัตรเหลือ  5%  ต่อปี พร้อมต่อยาสูตร “จ่ายเท่าที่ไหว” กู้วิกฤตคนเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด  วอนลูกค้ารักษาสถานะตนเอง จ่ายเท่าที่ไหวไม่เว้นงวด 

0
1517

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า  ตั้งแต่เดือนต.ค. ปี  2563 ถึงปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้และมีปัญหาการชำระหนี้ จากข้อมูลของ “กรมบังคับคดี” มีคดีแพ่งเข้าสู่ชั้นศาลสูงถึง 1.3 แสนคดี โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นคดีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถ ซึ่งที่ผ่านมา “รัฐบาล” เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้  โครงการรวมหนี้  มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะ 3  ทางด่วนแก้หนี้  หมอหนี้เพื่อประชาชนและหนึ่งในนั้นคือการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่ถึง 49.9 ล้านบัญชี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลักดันให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ด้วยการจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM  ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank)  ที่ค้างจ่ายหรือไม่ได้จ่ายหนี้บัตรเกินกว่า  90 วัน 

สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3  “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”  ได้ต่ออายุมาตรการ “จ่ายเท่าที่ไหว” ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 64  แบ่งออกเป็น 1. ลูกค้าที่ชำระเกินกว่า 80 % ของค่างวดในแต่ละเดือน จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 2% และ 2.ลูกค้าที่ชำระเกินกว่า 40 % แต่ไม่ถึง 80% ของค่างวดในแต่ละเดือน จะ ได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1%  นับว่าเป็นความพิเศษของมาตรการที่ผ่อนปรนและให้โอกาสคนที่เป็นหนี้เสียบัตรสามารถเลือกผ่อนชำระได้ตามความสามารถที่แท้จริงและกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องหนีหรือออกจากโครงการซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องหรือปัญหาทางด้านหนี้สินที่ยืดเยื้อในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าที่ได้เข้ามาตรการ “จ่ายเท่าที่ไหว” ขณะนี้ พบว่าตนเองไม่สามารถผ่อนชำระได้ในอัตราที่ตกลงตามสัญญา  “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”  เข้าใจในสถานการณ์และขอเป็นกำลังใจให้ลูกค้าทุกคน แต่ขอย้ำให้ลูกค้าพยายามจ่ายชำระเท่าที่จ่ายไหวและจ่ายตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องทุกเดือน  ทั้งนี้  เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้และเพื่อประโยชน์ของลูกค้าเองในการคงสถานะการเป็นลูกค้าของ “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”  ได้ต่อไป

นอกจากมาตรการ “จ่ายเท่าที่ไหว” ดังกล่าวแล้ว “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”  ยังปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราเดียว (Single Rate) เหลือเพียง 5% ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยต่ำที่สุดในระบบ  เทียบกับดอกเบี้ยบัตรปกติอยู่ที่ 15-25% โดยข้อดีของการเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM มีหลายประการ ได้แก่ 1.ไม่ถูกทวงถามจากเจ้าหนี้หลายราย 2.แก้ไขหนี้หลายรายได้ครบ จบในที่เดียว 3.ทำสัญญาแก้หนี้เพียงฉบับเดียว 4.ผ่อนสบาย ๆ ตามตารางชำระหนี้  และ 5.ผ่อนได้นานสูงสุดถึง 10 ปี 

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สนใจสมัครเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”  ดังนี้ คือ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ มีอายุไม่เกิน 70 ปี มียอดหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และ เป็นหนี้เสียก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2564 และเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาผลการสมัคร ตามแนวคิด “เอกสารครบ-จบไว” ควรเตรียมเอกสารสำคัญประกอบการสมัคร ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 1 เดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน (กรณีผู้มีรายได้ประจำ) / รายการเดินบัญชี (Statement) อย่างน้อย 3 เดือน  หรือหนังสือรับรองรายได้ (กรณีอาชีพอิสระ) 3. เอกสารรายงานเครดิตบูโร 

สำหรับช่วงโควิด 19  “คลินิกแก้หนี้ by SAM” เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-17.00 น. ที่ชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ อเวนิว รัชโยธิน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ลูกค้าสามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีรัชโยธิน (ทางออก 1) ทั้งนี้ หากลูกค้าและผู้ที่มีความประสงค์จะใช้เดินทางมาที่สำนักงานคลินิกแก้หนี้  โปรดติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่ เบอร์โทร.065-240-6153 และเพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางออกนอกบ้านของลูกค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คลินิกแก้หนี้ by SAM ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือ แอดไลน์ @debtclinicbysam และ Facebook คลินิกแก้หนี้ หรือติดต่อสอบถามรายละเอียด ได้ที่ สายด่วนชนะหนี้ 1443”  

เกี่ยวกับ SAM : บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐที่มีบทบาทในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของระบบสถาบันการเงินอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม