สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) หรือ อังค์ถัด เปิดตัว รายงานการค้าและการพัฒนา 2564 “Launch of the Trade and Development Report 2021: From Recovery to Resilience: The Development Dimension” ในวันพุธที่ 15 กันยายน 2564  โดยจัดในรูปแบบการแถลงข้อมูลออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Webex 

0
1386

โดยมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD : อังค์ถัด) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) Mr. Richard Kozul-Wright, Director of the Division on Globalization and Development Strategies, United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) และ นายมนู สิทธิประศาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมกันแถลงและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการค้าและการพัฒนาในภูมิภาคเอเซีย แปซิฟิก เพื่อประโยชน์ต่อการค้าและการพัฒนาในภูมิภาคหลังวิกฤตโควิด-19 เสนอต่อสื่อมวลชน ประชาชน หน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

‘ UNCTAD ‘ แนะหลังโควิด -19 เน้นความร่วมมือ เสริมความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุข 

ในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19     ที่ต่อเนื่องยาวนาน และยังไม่มีสัญญาณถึงการหยุดแพร่ระบาดแม้ว่าขณะนี้ในประเทศพัฒนาแล้วจะระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศของตนเองไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่หันกลับมามองประเทศกำลังพัฒนาในโลก โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย แปซิฟิก ยังพบว่าการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิ-19 การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ การเข้าถึงวัคซีน ยังมีช่องโหว่ให้โควิด-19 เข้าโจมตีระลอกแล้วระลอกเล่า จนตอนนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือการสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดยผ่านความร่วมมือกันของทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะเหล่าประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น

รายงานการค้าและการพัฒนา 2564 หรือ “Trade and Development Report 2021 : From Recovery to Resilience: The Development Dimension” จัดทำโดย องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) มีข้อสรุปหนึ่งที่ได้ระบุถึงการกลับมาเติบโตอีกครั้งของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้งหลังจากวิกฤติโควิด-19 จบลง แต่ต้องอยู่ในภายใต้เงื่อนไขที่ทุกประเทศต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

โดยในรายงานฉบับนี้ได้ระบุถึงหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา นั้นคือ การสนับสนุนการจัดสรรเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ SDR (Special Drawing Rights) ภายใต้ IMF จำนวน 6.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบของโควิด-19 ซึ่งการจัดสรรเงินของกองทุน SDR นี้ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นการเสริมทุนสำรองระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ ที่สามารถใช้เงินดังกล่าวสนับสนุนเศรษฐกิจของตนเอง และยกระดับการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ โดยกองทุน SDR จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศต่างๆ ตามสัดส่วนของโควตาของ IMF โดยมีเม็ดเงินประมาณ 2.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมอบให้กับกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะออกมาตรการรัดเข็มขัดในสภาวะวิกฤต โดยไม่มีการจัดการเงินทุนอย่างเหมาะสม และการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยขาดการวางแผนอย่างรอบคอบนั้น จะส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้ จากแค่ความช่วยเหลือของกองทุน SDR เพียงอย่างเดียว

โดยอังค์ถัด คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดโดยจะสูญเสียรายได้มากกว่า 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 และยิ่งไปกว่านั้นถ้าการกระจายวัคซีนยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงจะยิ่งส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ จากรายงานของอังค์ถัด ยังได้ชี้ถึงโครงการบางส่วนที่ระบุถึงความไม่ประสบความสำเร็จในการจัดสรรทรัพยากร เช่น โครงการ COVAX และ C-TAP schemes เป็นต้น ซึ่งทั้งสองโครงการดังกล่าว ยังประสบปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยยังมีการละเลยข้อเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) เพื่อให้มีการผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาหันกลับมาทางฝากฝั่งเอเชีย แปซิฟิก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกันของเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย แปซิฟิก การเข้าถึงต่อการสาธารณสุข และวัคซีนในทวีปเอเชีย แปซิฟิกนั้น ควรได้นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในเอเชีย รวมถึงผลักดันกรอบความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบของ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP), Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และความร่วมมืออื่น ๆ เพราะสามารถนำมาใช้เป็นรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย แปซิฟิกได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาระบาดของโรคโควิด-19  และประเทศต่างๆ ยังสามารถนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เหมาะสมในทุกๆด้านได้ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน และเพื่อเตรียมการรับมือต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

นอกจากนี้ ดร.ศุภชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมในการเปิดตัวรายงานครั้งนี้และเห็นสอดคล้องว่า เอเชียแปซิฟิกยังมีนโยบายและแผนงานที่จะแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ดีมากนัก ทั้งยังไม่ได้ผลักดันนโยบายด้านการศึกษาให้เหมาะสม แม้ว่าเอเชียจะขึ้นชื่อว่ามีรายจ่ายด้านสาธารณะเพื่อการศึกษาสูงที่สุดในโลก แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 50%  นอกจากนี้การลงทุนของภาครัฐด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล อุปกรณ์การป้องกันโรค (ชุด PPE)  ยารักษาโรค ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ดังนั้นหลังวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างเร่งด่วนจึงเป็นเรื่อง การดูแลสุขภาพ การเข้าถึงยา การศึกษาสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวและฟื้นตัวให้พ้นจากพิษโควิด-19 ได้โดยเร็ว

ในส่วนของผู้แทนจากอังค์ถัด Richard Kozul-Wright กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 นั้นได้สร้างโอกาสในการทบทวนหลักธรรมาภิบาลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หลังจากที่เราพลาดไม่ได้ทำสิ่งนั้นไปหลังวิกฤตการเงินโลก” “ภายในระยะเวลาหนึ่งปี นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการขยายการคุ้มครองทางสังคมของสหรัฐอเมริกา ได้

เริ่มส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า โดยแนวทางนี้จะถูกนำไปปรับใช้ในระดับพหุภาคีต่อไป”

นอกจากนี้ Rebeca Grynspan เลขาธิการอังค์ถัด ยังได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องไม่จำกัดอยู่กับการใช้จ่ายในระยะสั้นและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคีเพื่อการค้าและการพัฒนาด้วย” และ “การให้ความสำคัญในเฉพาะบางประเด็น จะทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำและวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมถูกละเลย” สอดคล้องกับ Richard Kozul-Wright ที่ระบุว่า “ไม่เพียงแค่ความเหลื่อมล้ำได้เป็นปัญหาเรื้อรังของโลกาภิวัตน์นี้ ซึ่งเป็นผลมาจากอำนาจที่กระจุกตัวในกลุ่มเอกชนบางกลุ่ม ส่งผลให้สังคมโดยรวมถดถอยลงด้วย” นั้นหมายความว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 จบลง ทุกประทศจำเป็นต้องร่วมมือกัน และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านอื่นๆควบคู่กับการแก้ปํญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล่ำทางการศึกษา สาธารณสุข และปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ท้ายที่สุดในรายงานฉบับนี้ อังค์ถัด ได้เน้นย้ำว่าช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือเชิงนโยบายของทุกประเทศถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดขึ้น ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ความร่วมมือเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาร่วมกัน จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทั้งโลกต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป