‘สื่อสารสำคัญ ปลุกปั้นด้วยใจ ปรับใช้นวัตกรรม’ เปิดคัมภีร์เสริมแกร่งองค์กรสาธารณกุศลในยุค New Normal

0
1318

ในภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบัน พลังแห่งการให้จากหลากหลายภาคส่วนในสังคมไทยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่นำพาความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล หรือการแบ่งปันอาหารแก่ชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีองค์กรสาธารณกุศลเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ

KBank Private Banking ผู้ให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรสาธารณกุศลหลายแห่งในประเทศไทย และมองเห็นโอกาสที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทันสมัย จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “องค์กรสาธารณกุศลต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน” พร้อมด้วยวิทยากรทรงคุณวุฒิจาก 3 องค์กรชั้นนำที่มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ยกระดับองค์กรสาธารณกุศลไทยให้รับมือกับโลกยุคโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ KBank Private Banking ว่า “ปรัชญาการดำเนินงานของ KBank Private Banking คือการส่งมอบความมั่งคั่งที่สมบูรณ์ (Perfect Wealth) ให้กับลูกค้า ซึ่งความสุขจากการให้และการแบ่งปันถือเป็นอีกส่วนที่สำคัญ เราจึงมุ่งมั่นและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแบ่งปันสู่สังคมอยู่เสมอ ผ่านกลยุทธ์ S-Sharing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเรา โดยมีเป้าหมายในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรสาธารณกุศลในประเทศไทยดำเนินงานอย่างมีศักยภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันที่ยั่งยืนท่ามกลางภาวะที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การสื่อสารไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องค้นหาว่าอะไรจะทำให้เรา ‘ตอบโจทย์อยู่เสมอ’

“ในวันที่ทุกอย่างถูกท้าทาย โลกแห่งการสื่อสารก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นเดียวกัน แนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ครอบคลุม พร้อมปรับเปลี่ยนตามรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้คนในสังคมได้อย่างทันท่วงที คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการสื่อสารเจตนารมณ์ที่ดีขององค์กรสาธารณกุศลให้ประสบผลสำเร็จ” นางสาวโสพิส เกษมสหสิน รองประธานอาวุโส พาร์ตเนอร์ และผู้จัดการทั่วไป เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ระดับโลก กล่าว

“ด้วยความหลากหลายของกลุ่มผู้บริจาค และประเด็นทางสังคมซึ่งอยู่ในความสนใจในปัจจุบัน รูปแบบการสื่อสารจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยสามารถเริ่มวางแผนด้วยการตอบคำถามหลัก 5 ข้อ ดังนี้ 1) เป้าหมายขององค์กรคืออะไร ตอบโจทย์ของสังคมในวันนี้และอนาคตมากน้อยแค่ไหน 2) การสื่อสารมีความสม่ำเสมอ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ 3) ระบบการบริจาคมีความสะดวกสบาย ใช้งานง่าย ตรงกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริจาคเพียงใด 4) ประสบการณ์โดยรวมของผู้บริจาคควรเป็นอย่างไรเพื่อสร้างความประทับใจอยู่เสมอ และ 5) การบริหารเงินบริจาคมีการชี้แจงอย่างโปร่งใสและเห็นผลจริงหรือไม่ เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ องค์กรสาธารณกุศลก็จะสามารถวางกลยุทธ์การสื่อสารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายของตนได้”

สร้างนิยามใหม่ ปลุกพลังใจ จริงใจในทุกก้าว

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการเล็กๆ ที่อำเภอบางสะพาน ไปจนถึงการสร้างประวัติศาสตร์ของการทำสาธารณกุศลระดับประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ ‘มูลนิธิก้าวคนละก้าว’ ชื่อของ ‘พี่ตูน’ ก็ได้อยู่ในใจของคนไทยหลายคน และที่สำคัญกว่านั้น เขาได้พิสูจน์แล้วว่าเรื่องราวความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนสังคมด้วยการร่วมกันคนละเล็กละน้อย สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และยังสามารถปลุกพลังใจให้ใครอีกหลายคนลุกขึ้นมาสร้างประโยชน์ทั้งเพื่อตัวเองและสังคมอีกด้วย

นายอาทิวราห์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว และทีมที่ปรึกษามูลนิธิ ได้เล่าถึงการดำเนินโครงการของมูลนิธิว่า “ก้าวแรกของเรา คือการเริ่มต้นจากพลังใจที่ต้องการจะให้ โดยการใช้พละกำลังและเสียงเล็กๆ ที่เรามี มาถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสังคมหรือการขาดแคลนในด้านต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วประเทศ แม้ว่าวันนี้เราจะไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมร่วมกันได้เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่พวกเราทุกคนก็ยังคงมีส่วนร่วมด้วยกันได้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิ่งแบบ virtual run หรือการบริจาคผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แฟนเพจ รายการตลาดใจ เราได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนพื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้ทุกคนสามารถมาร่วมสมทบทุนหรือบริจาคสิ่งของจำเป็น โดยเราจะทำหน้าที่ช่วยส่งมอบกำลังใจเหล่านี้ไปให้กับกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป รวมถึงกิจกรรมใหม่ “ก้าวเพื่อน้อง” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนหาทุนการศึกษาให้แก่น้องๆ ที่ขาดแคลน ซึ่งเรามีความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมนี้ในทุกๆ ปี

“หนึ่งสิ่งที่เราเน้นย้ำอยู่เสมอในการระดมทุนสำหรับทุกๆ โครงการ คือการสื่อสารอย่างจริงใจและโปร่งใส ทุกบาททุกสตางค์ที่เรารวบรวมได้จะนำไปบริจาคตามเป้าประสงค์ของโครงการ 100% โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการสรุปชิ้นงาน เช่น การทำวิดีโอสั้นๆ เพื่อบอกเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงผลลัพธ์ที่สำเร็จอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเหมือนการสรุปปิดกล่องของขวัญที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน และที่สำคัญที่สุด เราอยากขอขอบคุณทุกกำลังใจดีๆ ที่ทุกคนมอบให้ และอยากเห็นทุกคนได้รับรอยยิ้มและภาพแห่งความสุขนี้ไปพร้อมๆ กันกับเราเสมอ”

ชูนวัตกรรม ทำประโยชน์เพื่อสังคมแบบรอบด้านด้วย Crowdfunding 

‘เทใจ’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ด้วยจุดประสงค์เริ่มต้นที่อยากช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลขนาดเล็กที่อาจจะยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก หรือยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน จนเมื่อเวลาผ่านไป เว็บไซต์เทใจดอทคอม ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มการบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมออนไลน์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้มีการนำนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่าง Crowdfunding มาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นพื้นที่ในการรวบรวมโครงการช่วยเหลือสังคมดีๆ มากมาย และมีกลไกในการเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริจาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการกลุ่ม Thai Young Philanthropist Network และ CEO เทใจดอทคอม เล่าถึงการเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคในยุคปัจจุบันว่า “เมื่อผู้คนย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น รูปแบบการบริจาคจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย กลุ่มผู้บริจาคหลักในยุคนี้ คือกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 20 – 50 ปี ที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนจากการบริจาคเป็นเงินสด เป็นการบริจาคผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมองหาความสะดวกสบาย รวดเร็ว และชัดเจนในทุกๆ การบริจาค และเชื่อมั่นว่าการบริจาคนั้น คืออีกหนึ่งเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พวกเขาต้องการ” 

“เทใจ เป็นเหมือนพื้นที่ออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้โครงการต่างๆ มาเข้าร่วม พร้อมกับระบบการคัดกรอง ตรวจสอบ และติดตามผลที่ละเอียดและเชื่อถือได้ เราต้องการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันในสังคมไทยให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อผลักดันให้เกิดการแบ่งปันและกระจายทรัพยากรไปในวงกว้างและทั่วถึง เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น หลักการของ Crowdfunding ที่เน้นการรวบรวมข้อมูลของโครงการต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางประเด็นสังคมมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน และยังสามารถแจกแจงรายละเอียดการจัดสรรทุนในแต่ละโครงการได้ จึงเข้ามาตอบโจทย์ปณิธานนี้ได้อย่างลงตัว”

“ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเข้าถึงความสนใจของกลุ่มผู้บริจาคใหม่ๆ มากขึ้น เรายังได้ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลของผู้บริจาคที่เข้าร่วมสมาชิกกับเราในรูปแบบ social listening เพื่อศึกษาความสนใจและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการบริจาค และนำไปพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มของเรา เพื่อร่วมสร้างชุมชนการบริจาคออนไลน์ที่แข็งแกร่งต่อไป”

“การสื่อสารที่ถูกต้อง ถูกทาง และถูกใจ คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรสาธารณกุศลสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการให้ในสังคมไทยให้มีความสร้างสรรค์และทันสมัยมากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของกลุ่มผู้บริจาคในยุคนิวนอร์มอลได้อย่างตรงจุด เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป” นายจิรวัฒน์ กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับ KBank Private Banking

KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ด้วยมาตรฐานระดับสากล แก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้บริการในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา สร้างความเติบโต และส่งต่อความมั่งคั่ง ครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน ทั้งทรัพย์สินทางการเงิน ธุรกิจครอบครัว อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรระดับโลก Lombard Odier ทำให้ KBank Private Banking สามารถตอบสนองทุกโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งมอบความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบและชีวิตที่ไร้กังวล แก่ลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร