ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งแรกปี 64 เบี้ยรับรวมเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 

0
1586

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 294,896.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 83,745.52  ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 211,151.05 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68  และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81 

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 45,851.44 บาท อัตราการเติบโตลดลง ร้อยละ 7.52

(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 37,894.08 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.26

โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

 

อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 142,804.21 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 มีสัดส่วนร้อยละ 48.43 

อันดับ 2  การขายผ่านธนาคาร จำนวน 124,101.47 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.45 มีสัดส่วนร้อยละ 42.08

อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 13,824.71 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 มีสัดส่วนร้อยละ 4.69

อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 7,133.99 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 มีสัดส่วนร้อยละ 2.42

อันดับ 5  การขายผ่านช่องทางดิจิทัล จำนวน 370.07 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 มีสัดส่วนร้อยละ 0.13 

อันดับ 6  การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 19.64 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 15.55 มีสัดส่วนร้อยละเพียง 0.01

อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ จำนวน 6,642.47 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 สัดส่วนร้อยละ 2.25 

ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,598.72 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 96.05 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 46,549 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,243.93 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.74 แต่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่น

ทั้งนี้จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 96.05 นั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ครบทุกช่วงวัยทั้งเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นและเรื่องความคุ้มครองของประกันชีวิต ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ทำให้ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมองว่าธุรกิจจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์การเติบโตไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อต้นปี 2564 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000 – 610,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ – 1 ถึง +1 ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบระมัดระวัง (Conservative) เนื่องจากทิศทางของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการคาดการณ์ครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว
ร้อยละ 1.5 – 2.5 ซึ่งอยู่ในระดับฟื้นตัวช้า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) 

ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น พร้อมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนจึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง 

ขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนาความคุ้มครองด้านสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI)อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร(ทั้งระบบ online และ off line) เช่น telemedicine, บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน(SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย 

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน รวมถึงเพราะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สำคัญที่เสริมสร้างวินัยทางการออมของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ทั้งนี้ภาคธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความมุ่งมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ ตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย มีการพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย ตลอดจนมีการพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบดิจิทัล (Digital Face to Face) และ มีการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความสามารถรวมถึงการบริการที่เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปัจจุบันทางภาคธุรกิจประกันชีวิตไทย ได้รับการอนุโลมแนวทางการให้ความคุ้มครองการบริการรักษาพยาบาล ณ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจนอกสถานพยาบาล (Hospital) โรงพยาบาลสนาม และล่าสุดรวมถึงการอนุโลมให้ความคุ้มครองไปยัง Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 ของ คปภ. ลงวันที่ 29 กรกฏาคม 2564 ซึ่งเงื่อนไขจะเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทประกันชีวิตกำหนด เพื่อให้แบบประกันชีวิตสามารถให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางและรูปแบบการสอบออนไลน์ (E-Exam) ที่เหมาะสม มีความโปร่งใสและรัดกุม ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ธุรกิจประกันชีวิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ และมีความยั่งยืนต่อไป

“สมาคมประกันชีวิตไทยและภาคธุรกิจประกันชีวิต มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยไปจนครบกำหนดสัญญา โดยบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้านทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย มีฐานะทางการเงินและเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงพอต่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการส่งมอบบริการที่เป็นเลิศทุกช่องทางและมุ่งพัฒนาต่อยอดคุณภาพการให้บริการโดยนำระบบเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยในทุกสถานการณ์ได้มากขึ้น” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย