มุมมองการลงทุนตลาดหุ้นยุโรปสำหรับไตรมาส 3/2021

0
1518

กลยุทธ์การลงทุนหุ้นยุโรปในช่วงไตรมาส 3/2021 SCBS CIO ปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นยุโรปจาก Positive เป็น Slightly Positive เนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นยุโรปได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากและต่อเนื่อง โดยดัชนี STOXX600 ปรับเพิ่มขึ้นราว 16.8% นับตั้งแต่ต้นปี จึงทำให้ Valuation ของตลาดเริ่มแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ โดยปัจจุบัน 12-month forward PE ดัชนี STOXX600 อยู่ที่ 16.9 เท่า ซึ่งใกล้ระดับ +1 SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ประกอบกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านภาษีที่อาจเพิ่มขึ้นจากผลการเลือกตั้งในเยอรมนี ทำให้เราปรับลดความร้อนแรงของคำแนะนำการลงทุนหุ้นยุโรปลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยุโรป ในปี 2022 ยังมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งและอาจถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นต่อ ควบคู่กับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นการคลังผ่านมาตรการ Next Generation EU หรือ EU Recovery Fund ที่จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 3/2021 และนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจาก ECB ตลอดจนแนวโน้มการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรป สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะต่อไป สำหรับปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ได้แก่ 

1) ความคืบหน้าในการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนของยุโรป ล่าสุด สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี สเปน และฝรั่งเศส มีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส อยู่ที่ 65% 55% 53% 52% และ 42% ตามลำดับ ประกอบกับการคาดการณ์ที่อย่างน้อย 50% ของประชากรในกลุ่มประเทศหลักยุโรป มีแนวโน้มได้รับวัคซีนทั้ง 2 โดส ในช่วงไตรมาส3/2021 จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในยุโรป และช่วยหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจยุโรปกลับมาดำเนินเป็นปกติมากขึ้น 

2) นโยบายทางการคลังของสหภาพยุโรปยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยประเทศสมาชิกใน EU มีแนวโน้มที่จะได้เงินสนับสนุนจากมาตรการ Next Generation EU เม็ดเงินรวมราว 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายตั้งแต่ไตรมาส 3/2021 ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวโน้มกระจายการใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับตามแผนของ EU โดยเน้นใช้จ่ายเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอน และเน้นใช้จ่ายด้าน Digital Transformation จึงทำให้เรามองแรงส่งของนโยบายการคลังใน EU ยังดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นแรงเสริมนอกเหนือจากนโยบายการคลังในแต่ละประเทศ

3) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อ แม้ว่า ECB อาจมีการส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ซึ่งปัจจุบัน วงเงินรวมอยู่ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร อย่างเร็วในช่วงปลายไตรมาส 3/2021 แต่เรามองว่า ภาพการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ ECB จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจาก ECB มีแนวโน้มพิจารณาและรอดูการลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก่อน แล้วจึงจะเริ่มหารือเพื่อลดการผ่อนคลายทางการเงิน นอกจากนี้ ECB ยังคงมีการเข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Asset Purchase Programme (APP) เดิมที่ซื้อสินทรัพย์เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร ทำให้ประเมินได้ว่าสภาพคล่องต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดยังคงมีเพียงพอ ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด ECB ได้ปรับประมาณการ GDP ในปี 2021 และ 2022 อยู่ที่ 4.6% และ 4.7% ดีขึ้นจากคาดเดิมที่ 4.0% และ 4.1% ตามลำดับ โดยได้แรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ด้านประมาณการเงินเฟ้อปี 2021 และปี 2022 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.9% และ 1.5% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค. ที่ 1.5% และ 1.2% ตามลำดับ

SCBS CIO มองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยได้รับปัจจัยหนุนจาก 

1) Consensus ทยอยปรับประมาณการ STOXX600 EPS ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน คาดว่า EPS growth ในปี 2021 และ 2022 จะอยู่ที่ 44% และ 11% ตามลำดับ โดยเรามองว่า ด้วยแนวโน้มการทยอยเปิดเศรษฐกิจของยุโรป และภาคบริการยุโรปที่ยังสามารถฟื้นตัวได้อีกมาก จะช่วยหนุน Forward EPS ของตลาดหุ้นยุโรป ให้ยังเพิ่มขึ้นต่อได้อีก รวมถึง positive surprise จากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยุโรปในระยะข้างหน้า

2) ตัวเลขทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของยุโรป มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ ตามการทยอยลดเงินออมส่วนเกินซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และการทยอยเพิ่มการใช้จ่ายหลังเปิดเมืองหลังทางการยุโรปเริ่มทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เช่น ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร จะได้อานิสงส์ นอกจากนี้ ดัชนี PMI ของยูโรโซนมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นได้ต่อ เรามองเป็นสัญญาณว่าหุ้นกลุ่ม EU Value/Cyclical สามารถเพิ่มขึ้นได้ต่อ และยังช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical ค่อนข้างสูงปรับเพิ่มขึ้นตาม และทำให้หุ้นยุโรปยังได้รับอานิสงส์จาก global sector rotation ต่อเนื่อง อีกทั้ง เรามองหุ้นกลุ่ม EU Value เช่น หุ้นกลุ่มภาคการเงิน ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ของยุโรปที่ยังเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อายุ 10 ปี ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

3) ปัจจัยเฉพาะภูมิภาคที่เป็นแรงส่งทำให้หุ้นยุโรปมีความโดดเด่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผน EU Green Deal เนื่องจาก EU มีการกำหนดเป้าหมายสนับสนุนชัดเจนในเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่าครึ่งในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้า carbon neutrality ในปี 2050 ทำให้กระแสหุ้นกลุ่ม clean energy และ renewables ในยุโรปได้รับความสนใจ 

ด้านประเด็นติดตามที่อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นยุโรปในระยะต่อไป ได้แก่

1) ผลการเลือกตั้งเยอรมนีในวันที่ 26 ก.ย. โดยพรรค Greens (หนึ่งในตัวเต็งพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาลผสม) ซึ่งได้คะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นในเยอรมนี มีแนวนโยบายที่อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเยอรมนีและตลาดหุ้นยุโรป โดยเฉพาะนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและภาษีคนรวย เช่น 1) การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและการเสนอขึ้นภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 และ 200,000 ยูโรต่อปีอยู่ที่อัตรา 45% และ 48% ตามลำดับ 2) การเสนอเก็บ wealth tax สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 2 ล้านยูโรขึ้นไป โดยแต่ละปีจะเก็บภาษี 1% ของทรัพย์สิน และ 3) การเสนอขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 25% จาก 15% กับทุกบริษัทในเยอรมนี และเสนอเก็บภาษีดิจิทัลเพิ่มเติมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ดังนั้น ความไม่แน่นอนเรื่องแนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จนถึงก่อนวันเลือกตั้งของเยอรมนี อาจส่งผลให้ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของยุโรประหว่างช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปได้

2) ประเด็นเรื่อง global minimum tax ตามแผนของกลุ่ม G7 ที่ต้องการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ทั่วโลก แม้ยังไม่ใช่ความเสี่ยงในระยะสั้น แต่อาจส่งผลกดดันบริษัทยุโรปในบางกลุ่มบริษัทและในบางประเทศที่มีอัตราภาษีเดิมต่ำกว่า 15% ซึ่งจะส่งผลต่อหุ้นกลุ่ม EU Growth และกลุ่มที่ปัจจุบันมีการเสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีรายได้จากนอกประเทศที่มาก เช่น บริษัทในกลุ่ม Semiconductors และ Consumer Services เป็นต้น

3) ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่ ECB คาดการณ์ไว้ เช่น ความเสี่ยงเรื่องการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในยุโรปที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

ผู้เขียนบทความ

ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ – ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

นายจตุรภัทร ทนาบุตร – ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด