กรุงศรี ดึงกูรูร่วมสนทนา Clubhouse วิเคราะห์ตลาดเงินดิจิทัล  ฟันธง Cryptocurrency เป็น “กระแส” ทรงพลังที่ต้อง “รู้ลึกรู้รอบ” ก่อนจะ “ไปต่อ”

0
1332

กรุงศรี สะท้อนบทบาทความเป็นผู้นำด้านการเงินและการลงทุนที่รู้เท่าทันเทรนด์และล้ำกระแสอยู่เสมอ ชวนผู้ฟังกลุ่มใหญ่กว่าพันคนในห้องสนทนา Clubhouse แพลตฟอร์มสนทนาเรียลไทม์ของคนรุ่นใหม่ ร่วมพูดคุย ถกเถียง วิเคราะห์เจาะลึกถึงแนวทางจัดการสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency คลายข้อสงสัยมากมายที่หลายคนต้องการคำตอบ ในหัวข้อ “Cryptocurrency กระแสหรือไปต่อ Powered by Krungsri Simple” โดยมีกูรูการเงินดิจิทัลระดับโลก หนึ่ง-ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Firo เหรียญคริปโตด้าน Privacy และ Satang Pro กระดานเทรดคริปโตแห่งแรกของคนไทย ร่วมเปิดเผยถึงโอกาสอันสดใส ควบคู่กับปัญหาและความเสี่ยงของการลงทุนใน Cryptocurrency พร้อมด้วย วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากกรุงศรี และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Invest Like A Pro ให้คำแนะนำทุกมิติการลงทุนในตลาดเงินดิจิทัลอย่างตรงไปตรงมา และ อิก-บรรพต ธนาเพิ่มสุข ที่ปรึกษาการเงิน เป็นผู้นำการพูดคุยสอบถามพร้อมไขก๊อกทุกประเด็นร้อน ให้นักลงทุนทั้งมือใหม่และเก๋าเกมเข้าใจระบบเงินดิจิทัลลึกกว่าและรอบด้าน

เปิดประเด็นคลับเฮ้าส์ “Cryptocurrency กระแสหรือไปต่อ Powered by Krungsri Simple” กับเรื่องด่วนสดๆร้อนๆ ในความผันผวนของราคาคริปโตที่ดิ่งลงแดงทั้งกระดาน ซึ่งปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Firo เหรียญคริปโตด้าน Privacy และ Satang Pro กระดานเทรดคริปโตแห่งแรกของคนไทย ให้ความเห็นว่าเป็นภาวะปกติที่ตัวเลขขึ้นมานานแล้วจะร่วงลงมาบ้าง และยังมองในมุมบวกว่าระยะยาวสามารถไปต่อได้ ในขณะเดียวกันเมื่อตลาดมีความผันผวนมาก ก็ยังมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นระยะสั้น อาจทำกำไรรายวันค่อนข้างดีถ้ามีความเชี่ยวชาญมากพอ ส่วนตลาดคริปโตในไทย คนส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมที่จะซื้อแล้วถือยาวไว้เพื่อรอขายในราคาสูงมากกว่าการเล่นระยะสั้น 

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสถาบันและบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกเริ่มสนใจที่จะลงทุนในตลาดคริปโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยว่า จุดนี้ทำให้ต้องกลับมามองว่าเหรียญดิจิทัลจะมีอิทธิพลและฟังก์ชั่นอะไรกับพอร์ทของเราบ้าง จึงเป็นการกระตุ้นให้ทั้งนักลงทุนและผู้ดูแลพอร์ทต้องหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมั่นใจว่าสกุลเงินดิจิทัลจะกลายเป็นทางเลือกการลงทุนในพอร์ทของอนาคต กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกนอกเหนือจากตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และทองคำอย่างแน่นอน

“ความยากของตลาดนี้คือความเป็น Currency ที่ไม่สามารถประเมินราคาได้เหมือนหุ้น ทำให้นักลงทุนยังคงลังเลในการซื้อขายและไม่รู้ว่าจะใช้หลักการใด เนื่องจากมูลค่าขึ้นลงนั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้หรือความคล่องตัวในการจับจ่ายใช้สอย เช่นสามารถซื้อรถ Tesla ด้วยเงินดิจิทัลได้ ก็ทำให้น่าสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังประเมินเป็นมูลค่าจริงได้ยาก หากจะดึงเงินดิจิทัลเข้ามาเป็นหนึ่งในพอร์ท นักลงทุนสถาบันต้องหาวิธีการในการจัดพอร์ทลงทุนนี้และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้” 

นอกจากนั้นสิ่งที่หลายคนยังรู้สึกสับสนกับเงินดิจิทัล คือความผันผวนที่คาดเดาได้ยากและเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อความเห็น และการให้ข่าวในมุมใดก็ตามของคนดังผู้ทรงอิทธิพลด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีผลต่อราคาและตลาดในทันที ซึ่งผู้บริหารกรุงศรีให้ความเห็นว่า ถือเป็นภาระหนักอึ้งของผู้จัดพอร์ทที่ต้องบริหารเงินก้อนใหญ่ของประชาชนนำมาแบ่งลงทุนในคริปโต เนื่องจากราคาที่ผันผวนต่อคำประกาศต่างๆ และยังถือเป็นจุดอ่อนและคำตอบว่าทำไมสถาบันการเงินยังไม่กล้าในลงทุนในคริปโตเต็มตัวในระยะนี้นั่นเอง เนื่องจากต้องมีความชัดเจนทั้งด้านวิธีการบริหารจัดการ กรอบข้อกำหนด และกฎหมายกับสถาบันที่ดูแลด้านการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกทั้งยังต้องมองถึงวิธีการบริหารพอร์ทให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบคำถามนักลงทุนให้ได้ด้วย ซึ่งในอนาคตมองว่าสถาบันการเงินจะเปิดรับสินทรัพย์เงินดิจิทัลมาลงทุนมากขึ้น เหมือนการยอมรับสินทรัพย์อย่างทองคำในอดีต

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นความย้อนแย้งของหน่วยงานการเงินประเทศต่างๆ ที่ออกมาต่อต้านคัดค้านสกุลเงินดิจิทัลในขณะเดียวกันก็กำลังศึกษาแนวทางสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเองด้วย ซึ่งปรมินทร์ อธิบายว่า ถึงแม้ทุกที่จะยอมรับในศักยภาพของเทคโนโลยีเงินดิจิทัลก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันอาจส่งผลกระทบกับอำนาจทางการเงิน ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ หลายประเทศจึงมองว่าเงินดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสและจุดอ่อน ส่วนที่รัฐออกมาทำสกุลเงิน Government Coins เองก็ถือเป็นการศึกษาผลลัพธ์เปรียบเทียบกับเงินตรารูปแบบเดิมและความเป็นไปได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ก่อนที่จะประกาศความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อกับ Cryptocurrency ในทิศทางใด ส่วนความเป็นไปได้ของรัฐที่จะคัดค้านกระแสคริปโตนั้น ปรมินทร์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดว่า เหมือนการแบนอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะถึงอย่างไรก็จะมีวิธีการที่จะทำให้เข้าถึงเงินดิจิทัลได้อยู่ดี

มาถึงกระบวนการคิดตัดสินใจก่อนการลงทุนใน Cryptocurrency วิน กล่าวว่า ในอนาคตเงินดิจิทัลจะเป็นทางเลือกหนึ่ง จึงต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบก่อนว่าเงินดิจิทัลมีความเป็นสกุลเงินและการแลกเปลี่ยนมากกว่ารูปแบบการลงทุนในกิจการที่ผลิตเพื่อมีกำไร และไม่เหมือนสินทรัพย์อื่นที่มีการจ่ายดอกเบี้ย เงินปันผล อีกทั้งธรรมชาติของเงินดิจิทัลในตอนนี้มีความผันผวนและหวือหวามาก เพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ทุ่มมากจนเกินไป ไม่ควรไปเสี่ยงหมดหน้าตัก “ไม่ควรจะลงทุนเกินกว่าที่พร้อมจะเสีย” แต่ควรทำให้เงินเติบโตอย่างมั่งคั่งมั่นคงด้วยการผสมผสานกันทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก 

ในการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานหรือทองคำนั้น จะเห็นได้ว่าคำแนะนำในการลงทุนก็คือควรเป็นสัดส่วนประมาณ 15-20% ของเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้นหากจะนำมาลงทุนในคริปโตควรอยู่ที่ 5% ในเบื้องต้นเพื่อเรียนรู้ก่อนใส่เพิ่มเข้าไป ซึ่งรูปแบบการลงทุนในเงินดิจิทัลนั้น ควรลงทุนในการซื้อขายโดยตรงมากกว่าลงทุนในบริษัทที่ลงทุนในคริปโต เพราะอาจมีข้อมูลเบื้องลึกที่นักลงทุนยังไม่รู้อีกมาก ซึ่งในอนาคตหากมีกองทุนรวมดัชนีหรือ  Exchange Traded Fund (ETF) เข้ามาลงทุนในคริปโตก็จะช่วยคลายกังวลสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับแพลตฟอร์ม ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นได้ 

ปรมินทร์ กล่าวเสริมถึงสไตล์ในการลงทุนซื้อขายคริปโตนั้น สามารถวิเคราะห์ด้วยการสังเกตและใช้ประสบการณ์ของแต่ละคน อย่างกรณีไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาเสริมให้ราคาขึ้นไปอีกแล้ว นั่นก็อาจทำให้ราคาดิ่งลงได้ แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้นักลงทุนใส่ใจคือรูปแบบการเก็บรักษาเงินดิจิทัลที่ปลอดภัย จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจในเทคโนโลยีนี้ด้วย ซึ่งการเข้ามาศึกษาให้ลึกขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้คนมั่นใจในการลงทุนเงินดิจิทัลมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

สำหรับหัวข้อ “Cryptocurrency กระแสหรือไปต่อ Powered by Krungsri Simple” มีผู้ร่วมฟังมากกว่า 1,100 คน ทั้งยังร่วมยกมือสอบถามปัญหาต่างๆ เช่น ความเป็นอิสระของเหรียญดิจิทัลแต่ละสกุล แนวทางการประเมินมูลค่าให้เหมาะสม หรือแม้กระทั่งเรื่องที่คาดไม่ถึง เช่น การส่งต่อเป็นมรดกแก่ทายาทที่สามารถทำได้ เป็นต้น ซึ่งผู้ร่วมพูดคุยตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น นับเป็นห้องสนทนา Clubhouse ที่สามารถไขทุกคำตอบเชิงลึกเหมือนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวเลยทีเดียว

เกี่ยวกับกรุงศรี 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 76 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 665 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 626 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 39 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 32,216 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 9.5 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)​อีกด้วย

กรุงศรี มีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น