“ทิพยประกันภัย” โตฝ่าโควิด 19 กำไร 638 ล้าน เพิ่ม 21% ไตรมาสแรกปี 64  เบี้ยประกันภัยเฉียด 7 พันล้าน พร้อมเดินหน้าดูแลประชาชน

0
1523

บมจ.ทิพยประกันภัย กำไรสุทธิไตรมาสแรก ปี 64 กว่า 638 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21% เบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่ม 13% ทะลุ 6,900 ล้านบาท ผู้บริหาร “ดร.สมพร สืบถวิลกุล” ปลื้มเบี้ยประกันภัยโตทุกประเภท หลังปรับตัวรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ควบคู่กับการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าก้าวขึ้นเป็นบริษัทฯ โฮลดิ้งส์ ภายใต้ชื่อ “ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ขยายขอบข่ายธุรกิจให้กว้างยิ่งขึ้น

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2564 ว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 บริษัทฯ ได้พยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินงานออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 638.28 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.06 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 527.55 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.88 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 110.73 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21

ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 6,908.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 804.58 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 จากไตรมาสแรกปี 2563 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,103.45 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากเบี้ยประกันภัยรับทุกประเภท ได้แก่ เบี้ยประกันอัคคีภัย เพิ่มขึ้น 4.19% เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เพิ่มขึ้น 14.41% เบี้ยประกันภัยรถยนต์ เพิ่มขึ้น 4.02% และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด เพิ่มขึ้น 16.75%

ด้านฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 บมจ.ทิพยประกันภัย มีสินทรัพย์รวมที่ 47,382.98  ล้านบาท หนี้สินรวม 38,046.18 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 9,336.80 ล้านบาท

         ดร.สมพร กล่าวถึงสาเหตุที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สืบเนื่องจากบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการได้รับความคุ้มครองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มความคุ้มครองสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19  ในด้านความคุ้มครองการแพ้วัคซีน หรือเพิ่มความคุ้มครองถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดให้กับบุคคลในครอบครัวฟรี เป็นต้น

รวมถึงบริษัทฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และออกกรมธรรม์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่มีความหลากหลายและมี Lifestyle ที่แตกต่างกัน ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ “TIP Rainbow” ที่สร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ในโลกยุคสมัยใหม่ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำประกันภัย เพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้าไม่ต้องระบุคำนำหน้าชื่อแบบเดิม สามารถระบุคู่ชีวิต คู่รัก ของตนเองเป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด เพื่อให้ลูกค้าและผู้รับผลตอบแทนได้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ยังมีประกัน “TIP อัพทูไมล์” ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 รูปแบบใหม่   ที่ออกแบบให้สามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันภัยได้ตามความต้องการ หรือระยะไมล์ที่ใช้อย่างแท้จริง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใช้รถน้อย หรือมีรถหลายคัน ให้ได้รับความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุดในการทำประกันตามระยะทางจริงที่ใช้

         “นอกจากการปรับตัวของทิพยประกันภัย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมความต้องการให้แก่ลูกค้าแล้ว ประเด็นหลักที่ บมจ.ทิพยประกันภัย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญ คือ การเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือดูแลสังคมและประชาชน เช่นมอบอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม เปิดโครงการ “TIP ห่วงไทย สู้ภัยโควิด” ให้ประชาชนทั่วไปได้ลงทะเบียนรับความคุ้มครองการแพ้วัคซีนโควิด 19 ฟรี 1,000,000 สิทธิ์ เป็นต้น  เพื่อให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจว่าจะได้รับการดูแลและเยียวยา หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของ​    บริษัทฯ ในการเป็นประกันภัยอันดับหนึ่งในใจประชาชน อีกด้วย” ดร.สมพร กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2564 นั้น ดร.สมพร กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงยึดนโยบายการขยายฐานลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ยังมีอัตราการขยายตัวได้อีกมาก  ซึ่งบริษัทฯ จะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ออกมารองรับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องรวมถึงบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการขายและช่องทางการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุม เนื่องจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ลูกค้ามีพฤติกรรมในการซื้อประกันหรือขอรับบริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการเว้นระยะห่างลดการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อไวรัสโควิด 19 อีกด้วย

อีกหนึ่งภารกิจหลักที่สำคัญ คือการปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงานของบริษัทฯ ยกระดับเป็นบริษัทฯ โฮลดิ้งส์ และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน ภายใต้ชื่อ บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขยายขอบข่ายการดำเนินธุรกิจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ ได้รับอนุญาตเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564