กรุงศรี ฟินโนเวต ประกาศกลยุทธ์ 2564 ตั้งธงผลักดันกรุงศรี สู่ดิจิทัลแบงก์เต็มตัว

0
1615
  • เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จในฐานะที่หนึ่งในใจสตาร์ทอัพไทย 
  • ชูกลยุทธ์เดินหน้า 3 เสาหลัก;  สร้างเสริม เพิ่มพันธมิตร และลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงินทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • มุ่งสร้างความร่วมมือสตาร์ทอัพ เชื่อมโยงสู่กรุงศรี กรุ๊ป เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • กรุงศรี ฟินโนเวต ผู้นำด้านการสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เผยความสำเร็จปี 2563 พร้อมประกาศเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงานปี 2564 มุ่งเสริมสร้าง Ecosystem ต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ทอัพ ลงทุนต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ มองเป้าหมายระยะยาวร่วมผลักดันกรุงศรีสู่ดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ของกรุงศรี ที่มุ่งเสริมสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจ (Ecosystem and Partnership) รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและไอที ด้วยงบลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 ปี (2564-2565)

ทีมผู้บริหาร กรุงศรี ฟินโนเวต (จากซ้าย)

ประภาศิริ อรรถจินต์ Head of Venture Builder and Ecosystem บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด

กัมปนาท วิมลโนท Head of Investment and Strategic Partnership บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด


นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า “กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 5 และประสบความสำเร็จเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มเติมทีที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยในด้าน FinTech ขยายสู่สตาร์ทอัพในทุกสาขา จนปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต กำลังทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพกว่า 50 บริษัท กว่า 100 โปรเจ็ค และส่งเสริมการทำงานด้านดิจิทัลของกรุงศรีและบริษัทในเครือถึง 35 หน่วยธุรกิจ ทั้งนี้ที่ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ในปี 2564  กรุงศรี ฟินโนเวต ได้มีโครงการที่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลได้กว่าเดิม อาทิ โครงการ Meet the Angels ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้นำเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีนักลงทุนเข้าร่วมกว่า 170 คน และทำให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพหลายราย นอกจากนั้น ยังมี Meet the Angels Sandbox ที่เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพสำหรับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้น (Early-stage startups) หรือแม้แต่การสนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานในกรุงศรีเองได้พัฒนาศักยภาพ นำเสนอไอเดียและเข้ารับการพัฒนาเพื่อที่จะผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพได้ ภายใต้ชื่อ กรุงศรี ยูนิคอร์น (Krungsri Unicorn) พนักงานที่นำเสนอไอเดียและแผนธุรกิจและได้รับการคัดเลือก จะได้รับโอกาสในการเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ (Startup Founder) ทำโครงการให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากกรุงศรี ทั้งในด้านเงินทุน ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจ ทั้งหมดเหล่านี้เอง ทำให้กรุงศรี ฟินโนเวตได้รับโหวตให้เป็นบริษัทลงทุนที่สตาร์ทอัพอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ภายใต้รางวัล “The Best Startup Synergy Awards 2021” จาก Techsauce ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จที่กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับปี 2564 นี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ แต่ยังเน้นไปที่การเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของธนาคารกรุงศรีสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว โดยมุ่งเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้

  1. การมุ่งสร้างและสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกระดับ และสร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (Venture Builder and Ecosystem) ผ่านโครงการ Meet the Angels, Meet the Angels -Sandbox และ Krungsri Unicorn และการสร้างชุมชนสตาร์ทอัพ  
  2. การร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership) โดยกรุงศรีฟินโนเวตจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับหน่วยธุรกิจภายใต้กรุงศรี กรุ๊ป โดยจะเน้นทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของกรุงศรีในเรื่องการลดต้นทุน การสร้างรายได้ การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล
  3. การลงทุนต่อเนื่อง (Investment) โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัพซีรี่ส์ A ขึ้นไปด้านฟินเทคอีคอมเมิร์ซ พรอพเทค และ AI ในไทยและอาเซียน ด้วยลงเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สำคัญจะต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้กับบริษัทได้

“ปี 2020 ที่ผ่านมา กรุงศรี ฟินโนเวตได้ลงทุนใน Grab, ICON Framework, Ricult, Flash, Appman ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่เพียงมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆของกรุงศรี กรุ๊ปในการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้ เราจะยังคงเดินหน้าต่อ โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นที่สตาร์ทอัพที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจที่อยู่อาศัย และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยเงินทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะมีโปรเจ็คร่วมกับสตาร์ทอัพในกลุ่มดังกล่าวรวมไม่ต่ำกว่า 120 โปรเจ็คในปี 2021 นี้” นายแซม กล่าวสรุป

เกี่ยวกับกรุงศรี 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 76 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 665 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 626 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 39 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 32,216 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 9.5 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)) อีกด้วย

กรุงศรี มีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

เกี่ยวกับกรุงศรี ฟินโนเวต

บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุน (Corporate venture Capital : CVC) ในเครือกรุงศรี ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านฟินเทคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการธนาคารทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ  ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเติบโตไปยังเป้าหมายที่วางไว้ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ และโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และการร่วมลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือมือจากหน่วยงานต่างๆ ของกรุงศรี