CGTN นำเสนอสารคดีชีวิตในซินเจียง “Beyond the Mountains: Life in Xinjiang”

0
1389
CGTN: Beyond the Mountains: Life in Xinjiang (PRNewsfoto/CGTN)

เทือกเขาเทียนซานที่ทอดยาวหลายพันไมล์ตลอดชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้แบ่งเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วยตอนเหนือที่ค่อนข้างมั่งคั่ง และตอนใต้ที่มีการพัฒนาน้อยกว่า เนิ่นนานมาแล้วที่ประชาชนทางตอนใต้ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยมากกว่าไม่เข้าใจการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตอนเหนือ ขณะที่ประชาชนในตอนเหนือก็ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับตอนใต้

หลังการพัฒนาและการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องนานหลายสิบปี ในที่สุดประชาชนทั้งสองฟากฝั่งของเทือกเขาก็เข้าใจกันมากขึ้น ภูเขาเป็นอุปสรรคทางกายภาพที่ข้ามผ่านไปได้ไม่ยาก แต่ “ภูเขาในใจบดบังไม่ให้เรามองเห็นความจริงและก่อให้เกิดอคติ” หาน ปิน ผู้กำกับสารคดี “Beyond the Mountains: Life in Xinjiang” กล่าว

การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในซินเจียงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ส่งผลให้ประชาชนทั้งในและนอกซินเจียงตื่นตระหนกและหวาดกลัว ชาวจีนนอกพื้นที่มองภาพชาวอุยกูร์ผิดเพี้ยนไปโดยไม่ตั้งใจ นี่คือคำบอกเล่าของเฉิน รุ่ยจวิน พนักงานบริษัทก่อสร้างที่เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาซินเจียงในปี 2551 และ 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มหัวรุนแรงก่อความไม่สงบอย่างหนัก อย่างไรก็ดี ความหวาดกลัวและอคติค่อย ๆ บรรเทาเบาบางลง เพราะถูกแทนที่ด้วยความเข้าใจมากขึ้นและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สื่อในโลกตะวันตกจำนวนมากสร้างภาพจีนในแง่ลบเนื่องจากขาดข้อมูลและความไว้เนื้อเชื่อใจ ซินเจียงซึ่งเป็นบ้านของชาวอุยกูร์กว่า 12 ล้านคน ก็ถูกสร้างภาพบิดเบือนและทำลายชื่อเสียงเช่นกัน โดยสื่อต่างชาติเอาแต่ประโคมข่าวว่า “รัฐบาลจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง”

ด้วยเหตุนี้ ภาพของซินเจียงที่แท้จริงจึงถูกบดบังด้วยพาดหัวข่าวที่รุนแรงและสะเทือนใจไม่จบไม่สิ้น ทั้ง “ค่ายกักกัน” และ “การบังคับใช้แรงงาน” ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฟาร์มปลูกมะเขือเทศ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และอีกมากมาย การใช้ถ้อยคำเกินจริงซึ่งเต็มไปด้วยอคติและการทึกทักเอาเองได้ก่อให้เกิดภูเขาในใจผู้คนมากมายที่ยากจะข้ามผ่านไปได้

“Beyond the Mountains: Life in Xinjiang” คือสารคดีความยาว 80 นาทีที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน ร้อยเรียงเป็นบันทึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในซินเจียง รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวการก้าวข้ามอคติและความเข้าใจผิดของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่

สารคดีนี้นำเสนอภาพทิวทัศน์อันงดงามของซินเจียง รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยสารคดีแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ “Changing times” “Following the money” “New generations” และ “Man and nature” เพื่อนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายของซินเจียงและชาวซินเจียงในปัจจุบัน

Sabyt Abukhadir อาศัยอยู่ในอำเภอจ้าวซูทางตอนเหนือของซินเจียง ครอบครัวของเขาอาศัยทุ่งหญ้าอันเขียวชอุ่มบนพื้นที่สูงในการดำรงชีพมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบัน หลานชายของเขาชื่อ Erjanat Nurkidir กำลังเรียนวิชาเอกการเต้นรำในมหาวิทยาลัย Ili Normal University ทั้งสองคนมีปากเสียงกันเพราะ Sabyt เชื่อว่าการเต้นรำเป็นเรื่องของผู้หญิง จนกระทั่งเขาได้เห็นหลานเต้นรำบนเวที “หลานผมทำได้ดีมากจนผมน้ำตาไหล” เขากล่าว

ในซินเจียงตอนใต้ การเปลี่ยนแปลงความคิดเป็นเรื่องยากกว่ามาก ผู้หญิงมากมายใน 4 เขตของซินเจียงตอนใต้ไม่เคยออกจากบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า “ผู้หญิงที่ออกจากบ้านไปทำงานจะไม่มีสามี”

แต่ Zileyhan Eysa เกษตรกรจากอำเภอคูชา เขตอักซู ตัดสินใจออกจากบ้านไปทำงานในโรงงานสิ่งทอทางตอนเหนือ ด้วยหวังว่าจะหาเงินมารักษาแม่ที่ป่วยหนัก “ถ้าฉันไม่มาที่นี่ แม่ของฉันคงตายไปแล้ว” เธอกล่าว

นอกเหนือจากเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่พยายามอย่างมากเพื่อเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นก่อนแล้ว สารคดีนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินอันเป็นที่รัก เช่น หยาง จงจง ผู้มีงานอดิเรกสุดแปลก นั่นคือ การค้นหาและทำบัญชีรายชื่อพืชทุกสายพันธุ์ โดยเขากล่าวว่า “สำหรับผม มันคือการดื่มด่ำกับความงามที่เรียบง่ายที่สุด” จนถึงขณะนี้ เขาสามารถรวบรวมตัวอย่างได้ 10,000-20,000 ตัวอย่าง เพื่อทำการศึกษาสัณฐานวิทยา พันธุศาสตร์ และเอกลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การเติบโตของพืชได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของพืชสามารถบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสภาพทางธรรมชาติ

เรื่องราวของการอุทิศตนและการทำลายอคติเหล่านี้ไม่ใช่การเพิกเฉยต่ออดีต แต่เป็นการมองไปยังอนาคตที่ก้าวหน้ากว่าเดิม