TMB Analytics เจาะแนวโน้มธุรกิจไทยปี 2564 ท่ามกลางคลื่นมรสุมโควิด 

0
1707

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ หรือ TMB Analytics ประเมินปี 2564 การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังห่างไกลจากระดับรายได้ปกติ แม้รายได้ธุรกิจไทยภาพรวมจะกระเตื้องขึ้นจากปีที่แล้ว 2.1% แต่รายได้ยังต่ำกว่าปี 2562 (เป็นปีที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ ก่อนถึงช่วงโควิด)  ถึง -14.6% ชี้ ธุรกิจที่ฟื้นแล้ว ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และอาหาร ธุรกิจที่กำลังฟื้น ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น และธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมแนะผู้ประกอบการหาโอกาสจากปัจจัยเศรษฐกิจที่สนับสนุนธุรกิจและทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และแนะภาครัฐเพิ่มแรงหนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ และประคองช่วยเหลือธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นให้ผ่านพ้นความยากลำบาก

ธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทาย หลังจากต้นปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่กลับมารุมเร้าอีกครั้ง ถือเป็นคลื่นมรสุมที่เข้ามาบั่นทอนกำลังซื้อภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของธุรกิจไทยให้ลดลง ประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด–19 จะยังอยู่กับประเทศไทยไปอย่างน้อยหนึ่งปี โดยภาพรวมความรุนแรงของการระบาดจะไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐมีประสบการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดตามความเสี่ยงเชิงพื้นที่ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดี จากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดจะยังคงมีอยู่ หากจะให้คลี่คลายอย่างถาวรต้องรอให้วัคซีนป้องกันโรคได้นำมาใช้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น ในช่วงปีนี้ผู้ประกอบการย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 นอกจากนี้ ผลกระทบจากโควิดต่อรายได้ของภาคธุรกิจในปี 2563 ที่ผ่านมา (ข้อมูลงบการเงินจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) พบว่ารายได้รวมของภาคธุรกิจลดลงกว่า -16.3% และ TMB Analytics วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจปี 2564  ซึ่งประเมินจาก 1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้นทั้งด้านดีมานด์และซัปพลาย มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ภาคบริการยังไม่ดีนักจากการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศและต่างประเทศ 2) ปัจจัยด้านโครงสร้างตลาด ได้แก่ ระดับการพึ่งพิงตลาดในประเทศและต่างประเทศ การพึ่งพิงภาคบริการ และ 3) ปัจจัยด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้แก่ การเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และนำทั้งสามปัจจัยดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกัน 

 ผลการศึกษาของ TMB Analytics คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยในปี 2564 นี้ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% แต่ทว่ารายได้ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ถึง -14.6% โดยคาดว่าธุรกิจที่ฟื้นแล้วจะขยายตัวจากปีก่อน 2.8% และธุรกิจที่กำลังฟื้นจะขยายตัวจากปีก่อน 2.5% ในขณะที่ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นจะหดตัวจากปีก่อน -1.2% ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจวิเคราะห์ด้วยการใช้เกณฑ์เปรียบเทียบแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในปี 2564 กับรายได้ธุรกิจปี 2562 ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

  • กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นแล้ว (รายได้ธุรกิจปี 2564 สูงกว่าปี 2562) ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพมากขึ้น 
  • กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น (รายได้ปี 2564 ต่ำกว่าปี 2562 ระหว่าง 80-100%) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ  สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้มีทิศทางฟื้นตัวตามทิศทางการการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการส่งออก และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่จะฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงเสียก่อน 
  • กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น (รายได้ปี 2564 ต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ในหมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าจะมีความหวังวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่อัตราการฉีดจะยังไม่ทั่วถึงในปีนี้  นอกจากนี้หลังจากฉีดไปแล้วยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้ 
  • จากข้อมูลดังกล่าว แนะนำให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากธุรกิจของตนเอง โดยการประเมินปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์บ้าง และพิจารณาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน และซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

 นอกจากนี้ ภาครัฐควรเพิ่มแรงสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมถึงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป สินค้าเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาครัฐสามารถช่วยประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ ด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือ อาทิ การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง