ธ.ก.ส. ได้ลำดับ 3 จาก 12 สถาบันการเงิน จาก“แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย” โดย Fair Finance Thailand

0
1403

ธ.ก.ส. ได้รับการประเมิน “การธนาคารที่ยั่งยืน” โดย Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย โดยนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International เป็นเกณฑ์วัด   ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้คะแนน 22.1% เป็นอันดับ 3 จาก 12 ธนาคารที่เข้ารับการประเมิน 

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่  Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2561 เพื่อผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (Sustainable Banking)   อย่างแท้จริง ประกอบด้วยสมาชิกแนวร่วมคือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด  International Rivers  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พิจารณาจากนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคาร 12 แห่งในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2563 ใน 13 หมวด ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทุจริตคอร์รัปชัน  ความเท่าเทียมทางเพศ  สุขภาพ   สิทธิมนุษยชน  สิทธิแรงงาน  ธรรมชาติ  ภาษี  อาวุธ  การคุ้มครองผู้บริโภค การขยายบริการทางการเงิน นโยบายค่าตอบแทน และความโปร่งใสและความรับผิด (ธ.ก.ส. ประเมิน 9 หมวด ยกเว้น สุขภาพ ธรรมชาติ และอาวุธ)  โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงลำดับ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย (38.9%) ธนาคารกรุงไทย (22.4%)  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (22.1%)  

จากผลประเมิน ธ.ก.ส. ได้คะแนน 22.1% (คะแนนเต็ม 100) จากนโยบายที่มีความเด่นชัดด้านความยั่งยืน โดยมีคะแนนรวมมาเป็นอันดับที่ 3 รองจากธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ Fair Finance เป็น Movement ระดับโลกที่ใช้ “ดัชนี” และ “เครื่องมือ” สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน ที่ผ่านมาประเมินเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ในปี 2563 เป็นปีแรกที่คณะวิจัยประเมินนโยบายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งด้วย ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี)  

ธ.ก.ส. มุ่งดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับภาคีเครือข่ายในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังคงมุ่งมั่นทำต่อไป เพื่อสร้าง Better Life คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชนบท Better Community ชุมชนที่ดีและเข้มแข็งขึ้น และ Better Pride   สร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ  ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน  มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท”