DITP เร่งเสริมทักษะผู้ประกอบการไทยตีตลาดอินเตอร์ พร้อมดึงคนรุ่นใหม่ Gen Z สร้างธุรกิจรองรับยุคดิจิทัลเติบโต 

0
1393

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เผยหลักสูตรใหม่ปี 2564 เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยรับมือการค้ายุคใหม่แบบ New Normal และตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านโครงการ “From Gen Z to be CEO”

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ New Economy Academy (NEA) หน่วยงานในสังกัดของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต่างได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ยังคงประกอบธุรกิจแบบเดิม อาจปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป NEA จึงเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจ และเข้าถึงตลาดต่างประเทศให้ได้มากยิ่งขึ้น

            “ในปี 2563 สถาบัน NEA ได้พัฒนาและเสริมความแกร่งให้กับผู้ประกอบการมากกว่า 20,000 ราย ในหลากหลายหมวดหมู่ โดยคัดกรองว่าแต่ละคนประกอบธุรกิจอะไร มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร จากนั้นก็จะอบรมเทคนิคการปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์โควิด สำหรับปีนี้เรายกโมเดลของ NEA ที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงเกิดวิกฤติโควิดเมื่อต้นปี 2563 เป็นกรณีศึกษา โดยตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมถึง 23,000 ราย ผ่านกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ประกอบการภาคการเกษตร และผู้ประกอบการที่เกิดใหม่ในภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มเป้าหมายรอง คือกลุ่ม Start Up หรือกลุ่มผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ (Gen Z) โดยดำเนินการภายใต้ โครงการ From Gen Z to be CEO “กระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่” ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรวมทั้งหมด 59 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อไปส่งเสริมให้ทั้ง 2 กลุ่มเกิดความเข้มแข็ง ทั้งช่องทางการทำตลาด การสร้างแบรนด์ให้มีความโดดเด่น สามารถขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น รวมถึงส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี การใช้ดิจิทัล เพื่อพัฒนาให้พวกเขาเติบโตก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง”

สำหรับในปี 2564 สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการตามนโยบายของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการไทยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และให้ความสำคัญกับเกษตรกรตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงผลักดันให้สินค้าเกษตรได้เข้าสู่ตลาดทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ NEA ต้องการผลักดันเข้าสู่ตลาดโลก ส่วนกลุ่มเป้าหมายรอง คือ กลุ่ม Start Up หรือกลุ่มผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ (Gen Z) เป็นกลุ่มที่สามารถใช้สื่อดิจิทัลหรือนวัตกรรมยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง NEA ต้องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มนี้ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้อย่างเข้มแข็งในอนาคต

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในรอบนี้ สถาบัน NEA มีการอบรมแบบออฟไลน์ในห้องเรียน ที่ศูนย์ฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ และได้มีการเตรียมจัดอบรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากโควิด 19 จึงต้องปรับการอบรมโดยจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 1.อบรมแบบ (offline) คอร์สจำกัดคนหรือเรียนแบบ เวิร์ค ช็อป เป็นคอร์สที่ผู้อบรมต้องมาพบวิทยากรเพื่อขอคำปรึกษา จึงต้องมีการเว้นระยะห่างและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม 2.อบรมแบบ (online) ผ่านระบบ Webinar ,Zoom ,Live streaming และอบรมแบบ E-Learning คือ ผู้อบรมสามารถเข้ามาเรียนออนไลน์ได้ทุกช่วงเวลาที่สะดวก จึงอยากให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปติดตามการอัพเดทข่าวสารผ่านเว็บไซต์ NEA อย่างสม่ำเสมอ เพราะในปีนี้ได้วางแผนจัดกิจกรรมกว่า 100 กิจกรรม และมีการปรับหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในปีนี้ได้แบ่งหลักสูตรหลักเป็น 4 หลักสูตร คือ 1. กลุ่มหลักสูตรความรู้พื้นฐานด้านการค้าระหว่างประเทศ 2. หลักสูตรการสร้างช่องทางตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ 3. หลักสูตรการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ส่งออกและเครือข่าย และ 4. หลักสูตรสร้างมูลค่าเพิ่มและธุรกิจกระแสใหม่  

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถเข้าไปสมัครและดูรายละเอียดหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://nea.ditp.go.th/  ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่ของทาง NEA ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบรม และนอกจากจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเพียงพอในการทำการค้าระหว่างประเทศได้แล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้โอกาสขยายช่องทางทางการตลาดหรือต่อยอดธุรกิจสู่ต่างประเทศผ่านกิจกรรม business matching ร่วมพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการนำเข้า รวมถึงได้เข้าไปอยู่ใน platform online กับเครือข่ายที่เป็นพันธมิตรกับสถาบัน ซึ่ง NEA ยินดีจะเป็นสะพานต่อยอดเชื่อมเครือข่ายไปยังพันธมิตรเพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถทำให้ผู้ประกอบการสร้างยอดขายได้จริงและแข่งขันในเวทีนานาชาติได้อย่างมั่นคง