คาดทั้งปี 2564 ส่งออกไทยโตกว่า 3.4% แนะเร่งลดอุปสรรคการค้าเสริมศักยภาพ  

0
2039

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 มีโอกาสโตได้กว่า 3.4% จากกิจกรรมเศรษฐกิจการบริโภคทั่วโลกที่ฟื้นตัว กำลังผลิตของไทยเริ่มกลับมา และราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว ค่าขนส่งเดินเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และนโยบายการค้าต่างประเทศ แนะผู้ประกอบการปรับธุรกิจรองรับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป หนุนภาครัฐดำเนินการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้รวดเร็ว เพื่อให้ไม่เสียเปรียบกับคู่แข่ง

ในช่วงปี 2563 ทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักหลังจากมีการล็อกดาวน์ประเทศ เช่น งดการเดินทาง งดการจัดกิจกรรมธุรกิจ ปิดด่านศุลกากร ทำให้มูลค่าส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อน ถึง 6.9% โดยสินค้าส่วนใหญ่จะถูกกระทบจากความต้องการใช้และกำลังซื้อที่ลดลง  แต่ก็ยังมีสินค้าที่จำเป็นหลายรายการไม่ได้ถูกกระทบ และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

   ในปี 2564 แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับได้ บรรยากาศสงครามการค้าโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญฟื้นตัวได้เร็ว เป็นแรงหนุนต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกมีปัจจัยฉุดจากการที่สหรัฐฯ และหลายประเทศในแถบยุโรป รวมทั้ง ญี่ปุ่น กลับมาคุมเข้มเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงต้นปี ทำให้คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าเหล่านี้อาจจะฟื้นกลับได้ช้าลง รวมถึงมีประเด็นนโยบายการค้า / มาตรการตอบโต้ทางภาษีที่ถูกนำมาใช้ปกป้องการค้าอยู่

จากปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว TMB Analytics มองภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2564 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.4% จากที่หดตัวราว 6.9% ในปีที่ผ่านมา  และได้ประเมินแนวโน้มตามกลุ่มสินค้าจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้มูลค่าส่งออกที่ได้ปรับฤดูกาลแล้ว (seasonally adjusted) เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดรอบแรกในปีก่อน สามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สินค้าฟื้นตัวแล้ว เป็นกลุ่มสินค้าที่คาดว่าในปี 2564 จะโตกว่าช่วงก่อนการระบาด หรือมีระดับดัชนีการฟื้นตัวมากกว่า 100 (เทียบค่าเฉลี่ยปี 2562=100 ) โดยมีสัดส่วน 42.6% ของมูลค่าส่งออกรวม เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้อานิสงส์จากการ Work from Home และเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สินค้าสำคัญในกลุ่มนี้คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่ควรเฝ้าระวังคือ เรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว และการแข่งขันสูงจากประเทศคู่แข่ง

กลุ่มที่ 2 สินค้ากำลังฟื้นตัว เป็นกลุ่มสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวในปี 2564 แต่ยังคงไม่เท่ากับปี 2562 หรือระดับดัชนีการฟื้นตัวอยู่ระหว่าง 90-100 มีสัดส่วน 48.8% ของมูลค่าส่งออกรวม สินค้าสำคัญในกลุ่มนี้คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร เนื่องจากกำลังการผลิตสินค้าของทั่วโลกเริ่มกลับมา อย่างไรก็ดี  มีสิ่งที่ควรเฝ้าระวังคือ เรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว และความผันผวนของตลาด

กลุ่มที่ 3 สินค้ายังไม่ฟื้น เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักจากช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มฟื้นตัวช้า ๆ หรือระดับดัชนีการฟื้นตัวน้อยกว่า 90 คิดเป็น 8.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ประกอบไปด้วย สินค้าแฟชั่นต่างๆ และน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกลดลง และการผันผวนของราคา โดยกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ถึงแม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564 แต่ปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นช้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

โดยรวมในปี 2564 การส่งออกเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาสนันสนุน ทั้งนี้ หากไทยเพิ่มศักยภาพและลดอุปสรรคทางการค้าได้ จะมีโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายการส่งออกได้มากกว่าที่คาดไว้ หากผู้ประกอบการสามารถรักษามาตรฐาน พัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก บริหารจัดการด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนและสภาวะตลาดได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยเร็ว กับ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร เพื่อให้ไทยไม่เสียเปรียบคู่แข่ง รวมทั้งการช่วยให้ผู้ประกอบการในการเปิดตลาดประเทศใหม่ ๆ ขยายช่องทางในการขายสินค้าในตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น