คปภ.- สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ล่องใต้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งท้ายเดินสายการจัดสัมมนา 5 ภูมิภาค 5 จังหวัด สร้างความเข้าใจแนวทางปฎิบัติ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่)

0
1559

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) มอบหมายให้นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา 5 ภาค เรื่อง คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ครั้งที่ 5 (ภาคใต้) ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแนวทางการปฏิบัติให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ระหว่างสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดข้อโต้แย้งอันจะนำไปสู่ข้อพิพาท รวมถึงเพื่อลดข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยและปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย โดยมีผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. สังกัดสำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และสำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารบริษัทประกันภัยด้านการประกันภัยรถยนต์ และผู้บริหารสินไหมรถยนต์ พนักงานบริษัทประกันภัย และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้

นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการจัดสัมมนา 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระยอง เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแนวทางการปฏิบัติให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันไป ระหว่างสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัยตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารประกอบเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ส่งท้าย ครั้งที่ 5 (ภาคใต้) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานและเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งได้รับความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติจากผู้เข้ารับการสัมมนาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ก็จะส่งผลให้การจัดการค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรม รวมถึงประชาชนเกิดควาเชื่อมั่นในระบบประกันภัยไทย

รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า หัวใจสำคัญในการกำกับการดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยรถยนต์ของไทยให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมีเสถียรภาพอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดการสินไหมทดแทนที่ดีและได้มาตรฐานระดับสากล ปราศจากหรือลดข้อร้องเรียนให้มากที่สุด รวมถึงเพื่อลดข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยและปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย โดยการจัดทำคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย จะเป็นการอธิบายความหมายและเจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติมการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย.01) การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล (ร.ย.02) การประกันตัวผู้ขับขี่ (ร.ย.03) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์เนื่องจากการชนกับยานพาหนะทางบก (รยภ.) เบี้ยประกันภัย และการคำนวณเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมเอกสารแนบท้ายคู่มือตีความฯ ซึ่งประกอบด้วยคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และวิธีการพิจารณาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

“สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยกำหนดจัดสัมมนากระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อมุ่งเน้นให้การปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ชัดเจน ครบถ้วน เพื่อป้องกันการตีความที่แตกต่างกัน รวมถึงเพื่อเป็นการลดข้อโต้แย้งอันอาจเกิดจากการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับภาคธุรกิจประกันวินาศภัย หรือระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย และตลอดจนดำเนินการให้การจัดการค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการด้านการจัดการสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยของไทยให้มากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย