วิริยะประกันภัย ปฏิบัติการ FIRST AID กู้รถยนต์น้ำท่วม พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้            

0
1409

   วิริยะประกันภัย งัด “ปฏิบัติการ FIRST AID” รุดกู้และซ่อมรถยนต์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบหลังประสบอุทกภัยจากพายุมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินเบื้องต้นมีรถเอาประกันภัยไว้กับบริษัทฯ เกือบ 150 คัน ความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท เผยจังหวัดนครศรีธรรมราชมากสุด 102 คัน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ระดมธารน้ำใจจากวิริยะจิตอาสาทั่วประเทศส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยประชาชนในพื้นที่

    นายประสิทธิ์ สุนะชูแสง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาค 5 (ภาคใต้) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยอันเนื่องมากพายุมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ยังให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ที่สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง และในบางพื้นที่ยังคงต้องคอยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

    สำหรับบริษัทวิริยะประกันภัย มีการรับประกันภัยเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ และคาดว่าน่าจะประสบภัยน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 200 คัน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้เอาประกันภัยตามรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนในพื้นที่ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 17.00 น. มีรถยนต์ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 135 คัน โดยจังหวัดที่มีรถยนต์ประสบภัยน้ำท่วมมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช 102 คัน รองลงมา คือ จังหวัดสงขลา 18 คัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 9 คัน จังหวัดพัทลุง 4 คัน และจังหวัดปัตตานี 2 คัน ประเมินความเสียหายเบื้องต้นรวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท

    นายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ด้วยการนำโมเดล “ปฏิบัติการ FIRST AID” อันเป็นระบบที่บริษัทฯ ได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อดำเนินการกู้และซ่อมแซมรักษารถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจากการเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยเมื่อปี 2554 และยังคงมีการพัฒนากระบวนการทำงานอยู่เสมอ อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยในครั้งต่อๆ มา บริษัทฯ ยังได้นำ “ปฏิบัติการ FIRST AID” มาใช้จนเป็นผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อมั่นได้ว่าไม่ว่าอุทกภัยจะเกิดขึ้นที่ไหน และมีรถยนต์เสียหายจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนก็สามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการสั่งการ ตลอดไปถึงการส่งทีมงานจากส่วนกลางเข้าไปช่วยเหลือ

บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ

 บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญจากการปฏิบัติการ FIRST AID ในเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา และมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะต้องใช้ความรวดเร็วในการเข้าไปยังพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งหัวใจหลักของระบบ First Aid อยู่ที่ความรวดเร็วในการฟื้นฟูหรือซ่อมแซม นำรถยนต์ออกจากน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ความเสียหายขยายตัวไปมากกว่าเดิมทั้งนี้การจำแนกระดับความเสียหายโดยตรวจสอบระดับน้ำสูงสุดที่ท่วมตัว ได้แก่ ระดับน้ำ A-B สูงถึงพื้นรถยนต์ แต่ไม่ถึงเบาะนั่ง ระดับ B-C สูงถึงเบาะนั่ง และระดับน้ำ C-D สูงเกินกว่าเครื่องยนต์ไปจนถึงหลังคารถ เนื่องจากปริมาณน้ำในระดับที่ต่างกัน จะมีผลต่อชิ้นส่วนที่ต้องตรวจสอบ และทำความสะอาดด้วย ส่วนขั้นตอนการทำงานจะเหมือนกับไลน์ผลิตรถยนต์  ในขณะที่การประเมินความเสียหายที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของการเคลมประกันภัย อาทิ การตรวจสอบหลักฐานว่าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยครบถ้วนเพียงใด จะเป็นเรื่องที่ดำเนินการในภายหลัง หรืออย่างน้อยๆ ต้องผ่าน 2 ขั้นตอนแรกไปก่อน คือการนำเอารถออกจากพื้นที่น้ำท่วมและการเปลี่ยนถ่ายระบบน้ำมันหล่อลื่นภายใน

“มีรถยนต์หลายคันที่กู้ขึ้นมาและเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูหรือซ่อมแซมในเบื้องต้นไปแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเคลมประกันภัยก็พบว่าไม่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทฯ หรือเป็นการประกันภัยประเภทอื่นที่ไม่มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ซึ่งกรณีนี้บริษัทฯ ยินดีที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำถึงกระบวนการต่อไปว่าควรทำอย่างไรกับสภาพความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรองรับการบริการและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที” นายประสิทธิ์ กล่าว

นอกจากการระดมสรรพกำลังเข้าไปกู้และซ่อมแซมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของบริษัทฯ แล้ว  การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรูปแบบอื่นๆ ทางบริษัทฯ ก็ได้ดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน โดยนายประสิทธิ์  ได้กล่าวถึงการดำเนินงานในส่วนนี้ว่า เป็นภารกิจหลักของกลุ่มพนักงานวิริยะจิตอาสา  ซึ่งเริ่มจากกลุ่มพนักงานสำรวจภัยซึ่งต้องทำหน้าที่เข้าไปสำรวจรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมตามที่ได้รับแจ้งอยู่แล้ว จะทำหน้าที่สำรวจความเดือดร้อนของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ไปด้วยเลยว่า ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องของเครื่องอุปโภคและบริโภคอย่างไรบ้าง จากนั้นจะส่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้มายังศูนย์กลางประสานที่สาขานครศรีธรรมราช ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนทุ่งสง และศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลความต้องการและดำเนินการจัดซื้อ รวมไปถึงการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน จากนั้นก็จะส่งไม้ต่อให้กลุ่มพนักงานจิตอาสาของ ศูนย์ฯ/สาขา ตัวแทน ศูนย์ซ่อมมาตรฐาน ตลอดไปถึงคู่ค้า ดีลเลอร์รถยนต์ ฯลฯ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตามพิกัดข้อมูลที่ได้รับมา เพื่อกระจายกำลังออกไปมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์และอาหารพร้อมทานถึงมือผู้ประสบภัยโดยตรงอย่างรวดเร็วและทันต่อความต้องการ