บีเทรนด์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุข ชวนทุกคนมาเติมเต็มความฝันให้เป็นจริง ในงาน “บีเทรนด์ กิ๊ฟ เฟสต์ 2021”

0
1601

มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ผสาน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์ ป้องกัน รู้ทันโรค IPD และ ปอดบวม SAVE THAI FIGHT IPD เนื่องในวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day 2020)

มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี มุ่งเน้นให้ความรู้ สร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโรค IPD (Invasive Pneumococcal Disease) และปอดบวม และเรียนรู้การสร้างภูมิคุ้มกันต้าน “IPD” พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 5

โรค IPD เป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรงในเด็กเล็ก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตจากโรค IPD มากถึง 476,000 คนทั่วโลก1 นอกจากนี้โรค IPD ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กป่วยเป็นโรคปอดบวมที่รุนแรง1 ซึ่งโรคปอดบวมในเด็ก เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันปอดบวมโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมรณรงค์ป้องกัน ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคปอดบวม และวันปอดบวมโลกในปีนี้ อยู่ในช่วงที่สถานการณ์ยังตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ซึ่งในแต่ละวันมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและอาจสูงถึง 1.9 ล้านคนในปีนี้2

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “เชื้อนิวโมคอคคัส” (Streptococcus pneumoniae) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค IPD3 เชื้อชนิดนี้พบได้ในทางเดินหายใจส่วนต้น (โพรงจมูกและคอหอย ) โดยในเด็กไทยปกติพบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น เฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-3 ปี3 ส่วนในผู้ใหญ่พบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่าในเด็กมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 42 ซึ่งปกติเชื้อที่อยู่ในลำคอจะไม่ก่อโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เช่นเป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะสามารถรุกรานเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่รุนแรงหรือที่เราเรียกกันว่า “IPD” ได้ หากเชื้อแพร่ไปที่สมองจะทำให้เกิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้สูง ชัก ซึมมาก อาเจียนบ่อย 

ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากเชื้อแพร่ไปที่เลือด จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ หากเชื้อแพร่ไปที่ปอด ก็จะทำให้เกิดปอดบวมหรือเรียกอีกอย่างว่าปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย4 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก โรค IPD จึงยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบปีแรก1 นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังทำให้เกิดโรค หูชั้นกลางอักเสบได้อีกด้วย แม้ไม่รุนแรงแต่พบได้บ่อย แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค IPD จากอาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วย แม้โรค IPD สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยเชื้อนิวโมคอคคัสมีอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น ทำให้การรักษามีความซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น การป้องกันโรค IPD ด้วยการฉีดวัคซีนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะนอกจากจะลดโอกาสการเกิดโรค, อัตราการเสียชีวิต และพิการแล้ว ยังสามารถลดปัญหาการดื้อยาจากการที่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรกได้ด้วย ซึ่งนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันโรค IPD ด้วยวิธีอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น อาทิ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่แออัด ผู้ป่วยที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรปิดปากเวลาไอ จาม รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง”

“สำหรับโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) และ โรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ที่สังคมให้ความสนใจกันอยู่นั้น มีความเหมือนและความแตกต่างกันในหลายประการ สิ่งที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือ โรคมีการแพร่กระจายผ่านทางการไอและจาม ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย หากต้องการทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อชนิดใดก็ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเป็นโรคที่อาจมีความรุนแรงได้ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะออกซิเจนต่ำได้ร้อยละ 14สำหรับผู้ป่วยโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสเอง ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือดได้ถึงร้อยละ 206 แต่สิ่งที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกันก็คือ กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ สำหรับโควิด-19 มักพบผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 15-49 ปี (ร้อยละ 55.1%)7 แต่สำหรับโรค IPD กลุ่มเสี่ยงสูงคือเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี), เด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคไต เป็นต้น), ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป8 นอกจากนี้อย่างที่ทราบกันดีว่า โควิด-19 ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง หรือยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สำหรับโรค IPD มียารักษาและวัคซีนป้องกันแล้ว ดังนั้นวันปอดบวมโลกปีนี้จึงอยากรณรงค์ให้ประชาชน สังคม ใส่ใจในสุขภาพ นอกจากป้องกันตนเองจากโรคระบาดแล้ว อย่าลืมดูแลลูกหลานหรือผู้สูงอายุที่บ้านให้ห่างไกลจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนด้วยการปรึกษาแพทย์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน”

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า “มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้าให้ความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวลในเรื่องการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จึงทำให้เกิดการตื่นตัว ทั้งในระดับหน่วยงานขนาดเล็ก ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคีต่าง ๆ ในการให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อในภาพรวม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาก็ตาม การป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือโรค IPD ที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้แล้ว ก็ยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เรายังได้เดินหน้าสานต่อจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 และยังคงดำเนินตามเป้าหมายหลัก คือ การเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ เด็กกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคหอบหืด เด็กที่ไม่มีม้าม เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเป็นโรคมะเร็ง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ IPD มากกว่าเด็กปกติหลายเท่า อีกทั้งมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้สูง หากเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับวัคซีนก็จะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วย ลดค่ารักษาพยาบาล ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย เพราะจากข้อมูลพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรค IPD มักต้องนอนรักษาตัวในรพ.นานมากกว่า 12 วัน9 และเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 50,000 บาทโดยเฉลี่ยแม้รักษาในรพ.รัฐก็ตาม10 เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ในปีนี้เราได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 4,500 โด๊ส และจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ เองก็พร้อมที่จะผลักดันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรค IPD กันถ้วนหน้า เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าวัคซีนตัวนี้ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการบรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ

ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร  เปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD สูงมาก ยิ่งเด็กยิ่งเสี่ยง จากข้อมูลพบว่า อุบัติการณ์เกิดโรค IPD ของคนทั่วไปอยู่ที่ 3.6 ต่อแสนประชากร แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอุบัติการณ์เกิดโรค IPD อยู่ที่ 11.1 ต่อแสนประชากร และอุบัติการณ์เกิดโรคจะสูงขึ้นไปอีกในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อยู่ที่ 33.8 ต่อแสนประชากรนอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจาก IPD มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23%11 ดังนั้น

หน่วยงานหลายภาคส่วนต่างร่วมรณรงค์เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็ก ๆ สำหรับกรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานภาครัฐยังให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้กรุงเทพมหานครพิจารณาโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค IPD เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุด ได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้การป้องกันโรค IPD ด้วยวัคซีนในเด็กเล็กอีกด้วย รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโรคดังกล่าว จะสามารถลดความสูญเสียได้ กรุงเทพมหานครคาดหวังว่าหากสามารถผลักดันให้นำวัคซีนป้องกันโรค IPD มาฉีดนำร่องให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครในปี 2564 ได้นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและต่อสังคมในวงกว้างเป็นอย่างมากต่อไป”