กรมสรรพากรเปิดตัวระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ณ อาคารกรมสรรพากร ห้องพระอุเทน 1 ชั้น 2 เวลา 8.00 – 11.00 น. ร่วมมือกับสถาบันการเงิน 11 ธนาคาร นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และผู้เสียภาษี โดยระบบนี้จะช่วยลดภาระในการจัดทำ และยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปยังกรมสรรพากร รวมถึงการจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ลดต้นทุนในการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งยังได้รับสิทธิ์ ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็นหนึ่งในระบบภาษีที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นเรื่องง่าย จากเดิมที่ผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง เปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการ หักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563
ระบบ e-Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือผู้จ่ายเงิน ธนาคารผู้ให้บริการระบบ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากร โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูล ที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน และนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบหลักฐาน หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th”
ธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ในขณะนี้มีจำนวน 11 ธนาคาร ได้แก่ 1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 4. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 5. ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ 6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 8. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 9. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 10. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 11. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า “ภาคธุรกิจการเงินได้ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศเข้าสู่ดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึง
บุคคลทั่วไป โดยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ส่งเสริมการเข้าถึง e-Payment ผ่านพร้อมเพย์เพื่อลดการใช้เงินสดและเช็ค พัฒนาระบบรับชำระทั้งขารับและขาจ่าย ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและเครดิตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการชำระภาษีของกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ขยายจากบุคคลธรรมดามาสู่นิติบุคคล ช่วยให้การคืนภาษีรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ”
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนใช้งานระบบ e-Withholding Tax กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161