เปิดวิสัยทัศน์ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 ชูบทบาทเป็น Social Bank เต็มรูปแบบ ช่วยสังคมฐานราก บรรเทาปัญหาหนี้สินและภาระดอกเบี้ย

0
1989

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 ฉายวิสัยทัศน์ ปรับบทบาทธนาคารออมสินเข้าสู่การเป็น Social Bank เต็มรูปแบบ เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้า – ประชาชน 3 กลุ่ม เร่งด่วน ผู้มีรายได้น้อยหรือฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน เผยเตรียมเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank เปิดรีไฟแนนซ์ลูกหนี้ กดดอกเบี้ยลง 8 -10% ช่วยเหลือคนจนที่ประสบปัญหาหนี้สิน และต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก หวังปรับโครงสร้างดอกเบี้ยของตลาดเงินกู้รายย่อย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินจะปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น Social Bank หรือ ธนาคารเพื่อสังคม อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อันเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาคารฯ มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลกลุ่มลูกค้านี้อย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนปัจจุบันธนาคารฯ มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6% ของจำนวนลูกค้ารวม โดยจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านของธนาคารให้สอดคล้องกับการเป็น Social Bank เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ในขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์จะเป็นกิจการรองเพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking)

สำหรับภารกิจแรกคือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว ภายใต้การมุ่งสู่ Social Bank ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลเชิงบวกให้กับสังคมอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการ Non-Bank ได้แก่ สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น ซึ่งคิดอัตราในระดับสูงถึง 24 – 28% ต่อปี หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายจะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8 – 10% ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนี้

นอกจากนี้ ธนาคารฯ จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในการสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Food, กลุ่ม Homestay เป็นต้น เริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขาย/การหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า Digital Banking จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ธนาคารฯ จึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไปเช่นกัน

“สภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่อไปอีก ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้กิจการค้าขาย/บริการ ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จำเป็นต้องมีการปรับตัว ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับบทบาทของธนาคารออมสินมุ่งสู่ Social Bank จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตวิถีใหม่มีต้นทุนที่ลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.