ไทยพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 9,251 ล้านบาท

0
1497

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1 ปี 2563 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) จำนวน 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้รวมที่ขยายตัว 9% จากปีก่อน พร้อมกับที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ขณะเดียวกันธนาคารได้ตั้งเงินสำรองสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 25,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน สะท้อนถึงกลยุทธ์ของธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง การปรับตัวลดลงของต้นทุนทางการเงิน และการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากภาวะดอกเบี้ยขาลง การหดตัวของยอดสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกของปี และการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน เป็นผลส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมประเภท recurring ที่ปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาส 1 ของปี 2563 รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งขยายตัว 31% จากปีก่อน เป็นจำนวน 2,022 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารเพิ่มขึ้นห้าเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,159 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความร่วมมือกับกลุ่มเอฟดับบลิวดีในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต การขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้สามารถชดเชยผลกระทบของการคิดค่าธรรมเนียมแบบใหม่ตามแนวทางการกำกับดูแลของทางการเมื่อต้นปี และการชะลอตัวของปริมาณการทำธุรกรรมธนาคารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,393 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน เป็นผลจากการไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับพนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่รับรู้ในปีก่อน และการตัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตออกจากงบการเงินรวมภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นออกไป โดยรวมแล้วอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในไตรมาส 1 ของปี 2563 ของธนาคารจึงลดลงเป็น 43.6%

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,726 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ของปี 2563 เพื่อรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ในการประมาณการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอยู่ที่ 3.17% ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับเพียงพอที่ 140%
ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งโดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 16.1% และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายที่ 17.2% แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่จัดได้ว่าเป็นช่วงวิกฤต ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนระดับสูงมากทั้งในตลาดการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด คณะกรรมการธนาคาร จึงได้มีมติให้ยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคารในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาทที่ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ไปได้อย่างดีที่สุด โดยให้ลูกค้าเข้าร่วมโครงการบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของธนาคาร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการขยายธุรกิจเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมสืบเนื่องจากวิกฤตครั้งนี้

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “แม้ว่าธนาคารมีผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเกิดจากการพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ ของโครงการ Transformation ที่ผ่านมา แต่การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 กำลังสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคเอกชน และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจธนาคารทั้งในด้านรายได้และคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะปรากฏอย่างชัดเจนในไตรมาสถัดๆ ไป ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงกำลังได้รับผลกระทบ ฐานะทางการเงินของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง ด้วยเงินกองทุนรวมตามกฎหมายที่ 17.2% และ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 16.1% การดํารงเงินกองทุนในระดับสูงและการบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับวิกฤตจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจมหภาคที่มีแนวโน้มถดถอยในปี 2563 ได้ ในช่วงเวลานี้ ธนาคารมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ฟื้นตัวและกลับมาสู่ภาวะปกติได้ โดยให้ลูกค้าเข้าร่วมโครงการบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของธนาคาร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศโดยหน่วยงานกำกับดูแล ในขณะที่สถานการณ์ของการแพร่ระบาดยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยให้ลูกค้าและทุกภาคส่วนของสังคมก้าวข้ามช่วงเวลาอันท้าทายนี้ไปด้วยกัน และด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงเห็นควรที่ต้องประกาศยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคารไว้ก่อนเพื่อการเข้าช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างเต็มที่”