เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย IMF คาดการณ์จีดีพีโลกหดตัวถึง 3% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปี มานะ นิมิตรวานิช และพิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS

0
1741

Key highlights :

  • IMF คาดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ“The Great Lockdown” โดยคาดว่าจะหดตัว 3% ซึ่งนับว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression ในปี 1930 ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2021 ที่ระดับ 8%
  • เศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรปยังน่าเป็นห่วงหลังการแพร่ระบาดยังคงรวดเร็วและรุนแรงแม้จะใช้มาตรการ Lockdown ไปแล้วก็ตาม ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนายังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุข และดีมานด์จากทั้งในและต่างประเทศหยุดชะงัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวหนักสุดในอาเซียน
  • Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2020 น่าจะหดตัว 6% ซึ่งดีกว่าที่ IMF ประมาณการไว้ที่หดตัว 6.7% จากมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่ยังไม่สูงมากนัก ทำให้เราน่าจะเห็นมาตรการคลังอื่นๆ เข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงลากยาวต่อไป
  • IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว 3% ตกต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1930 จากพิษ COVID-19

    IMF คาดเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้ถือเป็น “The Great Lockdown” จากรายงาน World Economic Outlook ของ IMF เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปี 2020 ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าจะ
    หดตัว 3% (เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่ขยายตัว 3.3%) ซึ่งนับว่าเลวร้ายกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2021 ที่ระดับ 5.8% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและฐานต่ำปีนี้ ขณะที่ผลผลิตของโลกในปี 2020-2021 คาดว่าจะลดลงจากประมาณการเดิมถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

    ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกปีนี้ดูเหมือนจะตกต่ำสุดนับตั้งแต่ The Great Depression ในปี 1930 กล่าวคือ วิกฤตโรคระบาด COVID-19 ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น“The Great Lockdown” ที่สะท้อนมาตรการจำกัดพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกเพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยการปรับลดประมาณการครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐาน ได้แก่

    • สถานการณ์การแพร่ระบาดจะค่อยๆ คลี่คลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี (กรณีฐาน) ซึ่งจะทำให้มาตรการจำกัดพื้นที่ของแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น
    • ช่วงเวลาการ Shutdown ของแต่ละประเทศ โดยการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศส่วนใหญ่เกิดในช่วงปลายเดือน มี.ค. จึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงไตรมาส 2 (ยกเว้นจีน) โดยประมาณการจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเสียหายเฉลี่ย 5% ของจำนวนวันทำงานทั้งปี 2020
    • ทิศทางตลาดการเงินทั่วโลกหลังการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก ขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาลกว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้มีสินทรัพย์ปลอดภัยและเงินสดมากขึ้น ตลอดจนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี
    • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำอย่างรวดเร็ว จากความล้มเหลวในการเจรจาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ท่ามกลางดีมานด์ทั่วโลกที่หดตัวอย่างหนัก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย (Brent, Dubai, WTI) จะอยู่ที่ 6 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2020 และ 37.9 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปี 2021

    จับตาเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังสถานการณ์ในสหรัฐฯ-ยุโรปน่าเป็นห่วง ขณะที่เศรษฐกิจไทยหดตัวหนักสุดในอาเซียน

    กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังน่าเป็นห่วงหลังการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป แม้จะใช้มาตรการ Lockdown ไปแล้วก็ตาม ซึ่งนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในระยะต่อไป โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มนี้จะหดตัวถึง 6.1% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 4.5% ในปี 2021

    กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุข และดีมานด์จากทั้งในและต่างประเทศหยุดชะงัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 2.2% ในปี 2020 ยิ่งกว่านั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการป้องกันยังลากยาวออกไป จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการปิดตัวของบริษัท และอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น

    เศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าจะหดตัว 0.6% และขยายตัว 7.8% ในปี 2020 และ 2021 โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวหนักสุดถึง 6.7% ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตที่ 6.1% ในปี 2021 รองลงมาคือ มาเลเซียที่ -1.7% ในปีนี้ และ 9% ในปี 2021 สวนทางกับเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังคงขยายตัวได้ที่ 2.7% ในปี 2020 และ 7% ปี 2021

    IMF คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวถึง 6.7% (ซึ่งหดตัวมากกว่าที่ ธปท. คาดไว้ที่ -5.3%) ในขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะหดตัวที่ 1.1% แต่ยังมองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีปีนี้ยังเกินดุลที่ 5.2% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 6.9% อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะกลับมาขยายตัวที่ 6.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาขยายตัวที่ 0.6% และดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีปีนี้ยังเกินดุลเพิ่มขึ้นไปที่ 5.6%

    Our View

    • เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ IMF ในครั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานหลักว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะค่อยๆ คลี่คลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งยากที่คาดเดาว่าการแพร่ระบาดจะสอดคล้องกับที่ IMF คาดไว้หรือไม่ ซึ่งหากการแพร่ระบาดลากยาวไปมากกว่านี้ ก็ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงไปลึกกว่าที่คาดการณ์
    • การแพร่ระบาดของโรคที่ไม่อาจประเมินได้ว่า ”จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?” ทำให้ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อไป ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กระแสเงินทุนมีความผันผวนรุนแรงและไหลออกจากสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่อาจเข้าสู่ภาวะ “Sudden Stop” หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนหยุดกะทันหัน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008-2009 ซึ่งจากปรากฎการณ์นี้อาจกดดันให้เงินบาทต่อดอลลาร์ฯ และเงินสกุลประเทศเกิดใหม่มีโอกาสอ่อนค่ามากขึ้น
    • Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศสูง ส่งผลให้เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ย่อมจะกระทบเศรษฐกิจไทยตามไปด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินที่มีเม็ดเงินกว่า 9 ล้านล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปี 2020 หดตัวที่ 4.6% ดีกว่าที่ IMF ประมาณการไว้ที่หดตัว 6.7% รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีที่ยังไม่สูงมากนัก ประกอบกับบทสัมภาษณ์ของ รมว.คลังที่มีแนวทางที่จะขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะให้มากกว่า 60% ของจีดีพี/1 ทำให้เราน่าจะเห็นมาตรการคลังอื่นๆ เข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงลากยาวต่อไป