คปภ. เผยประกันภัยข้าวนาปียอดทะลุ 27.99 ล้านไร่แล้ว สร้างสถิติใหม่วงการประกันภัย

0
1737

• ระบุยอดชาวนาทำประกันภัยถึงเดือนกันยายน 2.13 ล้านราย เบียดตัวเลข 1.9 ล้านรายของปี 2561 ในขณะที่จำนวนพื้นที่ปลูกข้าวนาปี พุ่ง 27.99 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่จัดทำโครงการฯ แถมมีลุ้นยอดเพิ่มจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคใต้ เลขาธิการ คปภ. นำภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ล่องใต้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดงานเพื่อส่งท้ายโครงการ Training for the Trainers ปี 2562 อย่างคึกคัก

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้ง ขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกรและผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกร โดยปีนี้ได้กำหนดพื้นที่จัดการอบรมฯ ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายในการลงพื้นที่และปิดโครงการ“Training for the Trainers” ประจำปี 2562

โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกว่า 300 คน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้สะท้อนสภาพปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ พบว่า อำเภอหัวไทร มีการปลูกข้าวนาปี จำนวน 38,055 ไร่ เป็นอันดับ 1 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีพื้นที่ทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 36,691 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 96.42 ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด ในขณะที่ความเสียหายของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในอำเภอหัวไทร ส่วนใหญ่เกิดจากลมพายุ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา ภัยพิบัติต่างๆจะเริ่มปรากฏตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จึงแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้เร่งทำประกันภัย เนื่องจากสามารถทำประกันภัยข้าวนาปีได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562

ถัดมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ประจำปี 2562 ณ ห้องฟอร์จูน 2-3 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ในการจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้จะได้สั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องประกันภัยข้าวนาปีและช่วยกันเร่งขับเคลื่อนภารกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามโครงการให้สัมฤทธิ์ผล

ทั้งนี้ หลังจากพิธีเปิดในช่วงเช้า สำนักงาน คปภ. โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายกรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมลงนาม ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าว มุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการ พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างครบวงจร

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นภัยคุกคามที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่มวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม ผู้ประกอบการ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ได้รับความสูญเสียและความเสียหาย โดยเห็นได้จากเหตุการณ์พายุโซนร้อน “โพดุล”และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ทำให้ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับความเสียหายรวม 32 จังหวัด 175 อำเภอ 896 ตำบล และ 6,400 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 370,749 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 29 ราย อพยพประชาชน 20,943 คน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด รวม 70 จุด ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ณ วันที่ 11 กันยายน 2562

โดยข้อมูลการรับประกันภัยข้าวนาปีทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 17 กันยายน 2562 พบว่า มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 จำนวนทั้งสิ้น 2.13 ล้านราย โดยมีพื้นที่ที่ทำประกันภัยข้าวนาปี (ส่วนที่ 1) จำนวนทั้งสิ้น 27.99 ไร่ และเกษตรกรซื้อความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) ด้วยการจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง จำนวน 2.43 ล้านไร่ โดยขณะนี้มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติจำนวน 1.38 ล้านไร่ จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วกว่า 1,742 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัย (Loss Ratio) เท่ากับร้อยละ 80.04

ดังนั้นโดยภาพรวมของการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ แม้จะยังไม่รวมตัวเลขการทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังเปิดรับประกันภัยข้าวนาปีไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และที่สำคัญระบบประกันภัยสามารถเข้าไปบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

“ผมขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับสำนักงาน คปภ.อย่างเหนียวแน่นในการขับเคลื่อนโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) อันจะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลของประเทศไทยอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการในปีนี้จะได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผล เพื่อใช้ในการปรับปรุงโครงการในปีต่อๆไป ซึ่งหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเหมือนอย่างเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรชาวนากลุ่มฐานราก” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย