กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.35-30.75 จับตาประชุมกนง. คาดคงดอกเบี้ยนโยบาย

0
2013

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.35-30.75 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.46 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.1 พันล้านบาท และ 1.65 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.75-2.00% โดยเป็นการปรับลดครั้งที่สองของวัฎจักร ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงนโยบายตามคาด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าการประชุมเฟดครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่า คณะกรรมการของเฟดมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการดอกเบี้ย โดยผู้กำหนดนโยบาย 3 จาก 10 รายคัดค้านมติเฟดที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ทั้งนี้ 2 รายต้องการให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ขณะที่ 1 รายโหวตให้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ส่วนประธานเฟดกล่าวว่าจะให้ความสำคัญกับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายงานจีดีพีของสหรัฐฯ สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและความคืบหน้า Brexit นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาภาวะสภาพคล่องสำหรับการระดมทุนระยะสั้นในสหรัฐฯหลังอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมช่วงข้ามคืนระหว่างธนาคารในสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นเหนือกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยที่เฟดกำหนดไว้ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าเฟดอาจต้องกลับมาดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ครั้งใหม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.50% ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 25 ก.ย. โดยตลาดจะให้ความสนใจกับสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนส.ค.ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดนำเข้าติดลบ 14.62% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 2.05 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกจะหดตัวถึง 9.8% ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี ส่งออกลดลง 2.19% ส่วนนำเข้าหดตัว 3.61% อนึ่ง เรามองว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.25% ในเดือนพ.ย.ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยในการประชุมสัปดาห์นี้ กนง.น่าจะเลือกที่จะเก็บกระสุนไว้สำหรับระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกรณีความเสี่ยงภายนอกรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้