วันที่ 17 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จ.นครนายก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พื้นที่ภาคกลาง (เขตสุขภาพที่ 4-6) เพื่อร่วมขับเคลื่อนกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ ผสานกับจุดแข็งของแต่ละพื้นที่เพื่อดึงศักยภาพชุมชนร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนึนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ
ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อน ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ “การมีส่วนร่วมของชุมชน จะสามารถมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูฟื้นฟู และมีบทบาทในการตัดสินใจดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการการเข้าถึงที่ง่ายสะดวกต่อการรักษาฟื้นฟู ซึ่งจะดำเนินการในชุมชนที่ผู้ป่วยอยู่ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและไม่ต้องเดินทางไกลมีการดูแลที่ครอบคลุมต่อเนื่อง รวมไปถึงการดูแลทางการแพทย์ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนของตนเอง ส่งผลให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
พันจ่าเอก สุริยา ภู่สวัสดิ์ นายอำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า พชอ. เป็นหนึ่งในกลไกหลักในการขับเคลื่อนหลักในอำเภอ มีภารกิจสำคัญในการดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีการสร้างเครือข่ายที่กระทรวงมหาดไทยยืดถือมาตลอด
ซึ่งการที่สสส. สนับสนุนการจัดอบรมบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน “ชุมชนล้อมรักษ์” หรือ Community Based Treatment : (CBTx) ได้ช่วยกันทำจริงจังและจริงใจกับชุมชนตั้งแต่เด็กเยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ ทำให้กลไก พชอ. แข็งแรง พอที่จะร่วมกับภาคีต่างๆ แก้ไขปัญหายาเสพติดได้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การรวมพลังกันการชี้เป้าที่ถูกต้องเพื่อลงไปช่วยเหลือ ติดตามผลทำให้ปัญหาต่างๆ สามารถพัฒนาระบบต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เพราะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ขั้นแรกคือการยอมรับความเป็นจริงซึ่งมันคือปัญหาที่ต้องมองเห็นร่วมกัน จึงจะนำไปสู่การชักชวนผู้ใช้ผู้เสพเข้าร่วมการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โครงการ CBTx เป็นโครงการที่ตรงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สุดแล้ว ถ้าชุมชนไม่ล้อมรักษ์ก็แก้ปัญหาไม่ได้
นางปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดให้เกิดประสิทธิภาพ จะต้องมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนการเจ็บป่วยที่ต้องรักษาทางการแพทย์ การใช้ชีวิตในสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อม ภาวะเศรษฐกิจ การขาดรายได้ ดังนั้นการบำบัดรักษาจึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการดูแลร่วมกัน ทั้งในเรื่องการรับประทานยา การรักษาต่อเนื่อง การเฝ้าระวังติดตามการใช้สารเสพติดซ้ำ การเฝ้าระวังอาการความรุนแรง มีการประเมินพฤติการณ์การใช้สารเสพติด เพื่อประเมินภาวะสมองติดยาด้วยแบบคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาและสารเสพติด เพื่อรับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน
ทั้งนี้ การสร้างมีส่วนร่วมของชุมชน วิธีการใช้ชุมชนห้อมล้อมผู้บำบัดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นและลดความหวาดระแวงทางด้านสภาพจิตใจจะดีขึ้น และด้านสุขภาพกายจะช่วยให้ปรับระบบจากอาการอยากยาลดลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการใช้ยาเสพติดไม่ได้ส่งผลดีต่อตนเอง ครอบครัวและคนในชุมชน หากไม่มียาเสพติดในชุมชนทุกคนก็จะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขโดยไม่ต้องหวาดกลัวผู้ใช้สารเสพติด