วช. มอบรางวัลเยาวชนสายอุดมศึกษา หนุนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่

0
414

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศผลทีมสายอุดมศึกษาผู้พิชิตรางวัลในกิจกรรม “การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566”ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ครั้งที่ 18 ในปีนี้มีผลงานจากนักประดิษฐ์ระดับชั้นอุดมศึกษา จัดแสดงจำนวน 154 ผลงาน ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมชมงานจำนวนมาก ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล จะได้รับเงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตร จาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้มอบรางวัล ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราและบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวชื่นชมคณะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงผู้บริหารหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์ หรือองค์ความรู้การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานความรู้ในการนำไปพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญหนึ่ง ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนไทย ได้นำเสนอผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาผลงานให้ก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัยนักประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาตลอดการจัดงานที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจผลงานของนิสิต นักศึกษา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัยในอนาคตที่ดี ด้วย

การมอบรางวัลผลงานจากการประกวด มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 และ 2. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป

ในปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ดังนี้
-ระดับปริญญาตรี กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เทคนิคการวิเคราะห์ภาพสำหรับการตรวจหาโรคในใบข้าวโพดโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึก” แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์เนื้อเยื่อจำลองจากพอลิไวนิลคลอไรด์ที่มีคุณสมบัติทางกลและภาพถ่ายทางการแพทย์ที่เหมาะสม” แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบและพัฒนาชุดทดสอบเสมือนจริงสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับสำหรับลากลิ่มเลือดในสมอง” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “วัสดุดูดซับโลหะหนักจากโฟมยางธรรมชาติและผงไคโตซานที่ผ่านการฉายรังสีแกมมา” แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ตองกง : ชุดศิลปหัตถกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวลับแล” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัย เรื่อง “เอนเคล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมสร้างและชะลอการย่อยสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มพลังงานและส่งเสริมการขับถ่าย” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งแคนเซอร์แอนติเจน 125 และคาร์ซิโนเอ็มบริโอนิกแอนติเจนพร้อมกันโดยใช้อิเล็กโทรดคาร์บอนคู่แบบรวมฟลูอิดิกสำหรับการตรวจวัดมะเร็งรังไข่” แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจวัดความแก่ของทุเรียนจากเสียงเคาะทุเรียน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากพลาสติกชีวภาพผสมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “คราฟติฟาย : แพลตฟอร์มเพื่อการร่วมสร้างสรรค์หัตถกรรมจักสาน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมี ผู้ได้รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา มีดังนี้
-ระดับปริญญาตรี กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ไบโอ-คิล ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช
ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องจ่ายน้ำยาล้างคลองรากฟันชนิดสั่นได้”
แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบและพัฒนาชุดทดสอบเสมือนจริงสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับสำหรับลากลิ่มเลือดในสมอง” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมพอลิเมอร์ไมโครแคปซูลชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการนำเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตไบโอเอทานอล” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดตรวจสุขภาพอัจฉริยะพร้อมเชื่อมต่อระบบสารสนเทศแบบพกพา สำหรับงานสาธารณสุขเชิงรุก” แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-ระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เอนเคล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมสร้างและชะลอการย่อยสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มพลังงานและส่งเสริมการขับถ่าย” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไม่มีผู้ได้รับรางวัลระดับดีเด่น กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจวัดความแก่ของทุเรียนจากเสียงเคาะทุเรียน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง ““WIN-Bugs”: ของเสียสมรรถนะกำลังสองเป็นทั้งสารอาหารเสริมสำหรับพืชและสารกำจัดแมลงศัตรูพืชจากเปลือกไข่และเปลือกสับปะรดเหลือทิ้ง” แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “คราฟติฟาย: แพลตฟอร์มเพื่อการร่วมสร้างสรรค์หัตถกรรมจักสาน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วช. หวังว่าการมอบรางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพ สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนและการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ และส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน อีกด้วย