วช. ลงพื้นที่ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เยี่ยมชมผลสำเร็จของงานวิจัย “ธนาคารปูม้า” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ทางรอดปูม้าไทยคืนสู่ท้องทะเล

0
367

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการวิจัย เรื่อง “การประยุกต์ใช้ธนาคารปูม้าเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งและยกระดับรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี” ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พร้อมด้วย นายคนอง อินทรัตน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังนายภานุวัฒน์ อินสุวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัง นายชัยชนะ ทิพย์มณี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลวัง นายปิยะ แซ่เอีย ประธานธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ และชาวบ้านในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปูม้าเป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีค่าทางเศรษฐกิจของไทย แต่ด้วยปัจจัยผลกระทบหลายอย่าง ส่งผลให้ปูม้าลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลการใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ การจับปูขนาดเล็ก เป็นต้น อีกทั้งมีการนำปูม้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น จนทำให้ปูม้ามีขนาดเล็กลง และอาจมีผลกระทบกับอาชีพการทำประมงปูม้าในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาของพื้นที่ ที่ วช.ให้ความสำคัญ และส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย

เพื่อแก้ปัญหา ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การอนุรักษ์ปูม้าบนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่หน่วยงานในพื้นที่และชุมชน ณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จึงนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ให้มีโอกาสพบปะและเห็นผลการทำงานของนักวิจัยกับกลุ่มประมงเรือเล็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพกว้าง สร้างรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการในระยะที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และได้ดำเนินการจัดทำธนาคารปูม้าในพื้นที่เกาะสมุย และเกาะพะงันเป็นจำนวนกว่า 62 แห่ง พบว่าจากการกระตุ้นและสร้างการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมปฏิบัติจริงของชาวประมงทั้งที่ใช้เครื่องมืออวนจมปูม้า และลอบปูม้าแบบพับได้ รวมทั้งเจ้าของแพปู และภาคเอกชนที่รับซื้อปู กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศทำให้ชุมชนมีความตระหนัก ตื่นตัว รวมทั้งมีความต้องการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ทรัพยากรชายฝั่งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวบางส่วนของกิจกรรมธนาคารปูม้า โดยผ่านทาง Facebook เพจของธนาคารปูม้ามวล.วช. จะเห็นได้ว่าชาวประมงมีกิจกรรมการปล่อยปูม้าจำนวนมากทุกพื้นที่ที่จัดทำธนาคาร ปูม้าตั้งแต่ชายฝั่งอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนถึงชายฝั่งอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการบริจาคแม่ปูไข่นอกกระดอง มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มระดับอำเภอ

รวมทั้งร่วมกันปล่อยปูม้าในระดับจังหวัดในงานประชุมอบรมการทำธนาคารปูม้าในระดับจังหวัด ประกอบกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 เพื่อปล่อยคืนในพื้นที่เหมาะสมทางระบบนิเวศด้วย นับเป็นการสร้างบรรยากาศของการตื่นตัวของชุมชนเพื่อร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากร ปูม้า ซึ่งเป็นทรัพยากรประมงที่มีคุณค่าของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีในระยะเริ่มต้นของการจัดทำธนาคารปูม้าเพื่อปล่อยคืนปูม้าสู่ทะเลไทยโดยชุมชนต่อยอดโครงการธนาคารปูม้าเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบองค์รวม (Holistic area based management) ตลอดจนกระตุ้นยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (BCG Economy) โดยการประยุกต์ใช้จุดแข็งของโครงการในด้านความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายธนาคารปูม้ากว่า 62 ชุมชนชายฝั่งที่มีความเหนียวแน่นครอบคลุมแนวชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะพะลวย และเกาะนกเภา ที่มีการเชื่อมต่อร้อยเรียงเครือข่ายไว้ ในการดำเนินการระยะก่อนหน้านี้ โดย

ในระยะที่ 3 ที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการ คณะทำงานได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืนระดับจังหวัด ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขับเคลื่อนงานในภาพรวมของทั้ง 2 จังหวัด ในลักษณะของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและครอบคลุมพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัด ดังนั้นการดำเนินงาน

ในระยะที่ 4 ของโครงการจึงมีการวิเคราะห์สถานภาพของชุมชนธนาคารปูม้าเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเพื่อสร้างอาชีพ และสร้างความมั่นคงยั่งยืนของปูม้า ตลอดจนเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนธนาคารปูม้าให้มีอยู่อย่างยั่งยืนในพื้นที่โดยใช้เครือข่ายคณะกรรมการขับเคลื่อนธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืนระดับจังหวัดเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและมีสำนักงานประมงจังหวัด และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างให้ธนาคารปูม้าเข้มแข็งโดยการหนุนเสริม ซ่อมแซมปรับปรุง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ติดตามจำนวนแม่ปูม้าที่เข้าธนาคารปูม้า รวมทั้งผลจับปูม้า กิจกรรม CSR โครงการ ส่งเสริมการตลาดท้องถิ่น กิจกรรมปล่อยปูม้าในพื้นที่ร่วมกับภาคีต่าง ๆ ในวาระสำคัญ หรือในช่วงเวลาที่มีภาคส่วนต่าง ๆ สนใจจัดกิจกรรมร่วม รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมจัดการท่องเที่ยวและอาหารเชิงอัตลักษณ์ร่วมกับภาคีในท้องถิ่นชุมชนเป้าหมาย ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปูม้าไทย ได้แก่ ปูสดชาวเล ,จ๊อปูจัมโบ้ ,ปูม้ากระป๋อง ,ชาวเลซีฟู้ดส์น้ำยาแกงปูสำเร็จรูป และอื่น ๆ อีกมากมายสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินการในระยะที่ 4 ที่จัดทำโครงร่างยื่นขอการสนับสนุนจะเป็นการใช้จุดแข็งของธนาคารปูม้าที่ดำเนินการในระยะที่ผ่านมา โดยธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 5 ชุมชนต้นแบบของประเทศไทยที่พัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG โดยเฉพาะกิจกรรมธนาคารปูม้าที่มีความชัดเจนของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลตอบโจทย์ SDG ข้อที่ 14 อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs และส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนฐานรากได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จํากัด สถานที่ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ปูม้าไทย ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จ อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลักดัน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ