เลขาธิการ คปภ. ฉายภาพผลงานเด่นต่อเนื่อง 8 ปี นำสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทยก้าวข้าม Digital Disruption ทะยานสู่มาตรฐานสากล พร้อมส่งต่อภารกิจให้เลขาธิการ คปภ. ท่านใหม่

0
485

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) สรุปผลงานเด่น ๆ ตลอด 8 ปี ในตำแหน่งและฉายภาพทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภายใต้บริบทใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในงาน Press Conference : the new landscape of insurance supervision towards sustainable growth เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรม ไมด้า รีสอร์ท กาญจนบุรี ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีผลงานเด่นที่ได้ดำเนินการมากมาย อาทิเช่น สะสางปัญหาการบริหารที่ค้างอยู่และปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน คปภ. เป็นผลสำเร็จ เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และเตรียมความพร้อมจนสาขาประกันภัยไทยสามารถผ่านการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) โดยได้คะแนนประเมินเป็นลำดับที่ 2 ของ ASEAN และเป็นลำดับที่ 4 ของโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย Center of Insurtech, Thailand (CIT) จนมีผลงานมากมาย ริเริ่มการจัดให้มีรางวัล OIC InsurTech Awards เพื่อเฟ้นหาสุดยอด InsurTech ของไทยเป็นครั้งแรกและให้จัดเป็นประจำทุกปี นำอุตสาหกรรมประกันภัยทยานสู่มิติดิจิทัลในระดับสากลด้วยการริเริ่มจัดงาน Thailand InsurTech Fair (TIF) ต่อเนื่องทุกปี ปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. เชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real-time เพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับการชำระภาษีรถประจำปี การยืนหยัดช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบให้รอดพ้นจากปัญหาการถูกบอกเลิกกรมธรรม์ฯ จนตัวเองต้องถูกฟ้องคดี ขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) พัฒนา Application “ME Claim” พัฒนา OIC Gateway เชื่อมต่อกับ Chatbot “คปภ. รอบรู้” ในรูปแบบ AI บนแพลตฟอร์ม LINE ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง พัฒนา Super Application ด้านประกันภัยในชื่อ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ “MyPolicy” สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้จุดประกายโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (Micro Insurance) จนมาสู่ประกันภัยอุบัติเหตุที่มีเบี้ยประกันภัย 7 บาท และ 10 บาท ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายใต้ชื่อ “กูรูประกันภัย” จุดประกายและขยายผลโครงการ Insurance Regulatory Sandbox : IRS ผลักดันการแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านประกันภัยจนยกร่างสำเร็จและผ่านความเห็นชอบจาก ครม. โดยร่างกฎหมายในกลุ่มที่ 1 ได้รับการตราเป็นกฎหมายและมีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงความผิดฐานใหม่คือการฉ้อฉลประกันภัย อีกทั้งยังออกคำสั่งนายทะเบียนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการลดเบี้ยประกันภัยหากมีการติดตั้งกล้องติดรถยนต์ และปรับปรุงเงื่อนไขระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อป้องกันกรณีเมาแล้วขับ ฯลฯ ส่วนภารกิจที่ได้เริ่มแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จและจำเป็นต้องฝากให้เลขาธิการ คปภ. ท่านใหม่สานต่อมี 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโดยต้องทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลมีความยืดหยุ่นและกำกับเท่าที่จำเป็นให้สอดคล้องกับกติกาสากล

ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine เพื่อทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ ปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการทำ Stress Test และ Scenario Analysis ของสำนักงาน คปภ.

ทั้งนี้ งานที่เริ่มแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จยังรวมถึงการสานต่อการผลักดันร่างกฎหมายแม่บทด้านประกันภัยที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว แต่ยังค้างอยู่ คือ ร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 2 การเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท และร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 3 ส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทประกันภัย โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มบทลงโทษ สำหรับผู้บริหารบริษัทประกันภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนด้านการประกันภัย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ทำได้เพียงเข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สินหรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ถือกรมธรรม์โดยกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) แต่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายสำหรับการละเมิดหรือทุจริตในธุรกิจประกันภัยสำหรับผู้บริหารบริษัทประกันภัยอย่างจริงจัง หากการแก้ไขกฎหมายและเพิ่มบทลงโทษเป็นผลสำเร็จก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดฉ้อฉลประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะตื่นตัวในการรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้เอาประกันภัย

นอกจากนี้ จำเป็นต้องสานต่อการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเลเป็นกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลบังคับใช้เป็นของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีธุรกรรมการประกันภัยเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล แต่ไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทยใช้เอง หลายกรณีต้องนำของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจวนจะแล้วเสร็จ ซึ่งหากประเทศไทยมี พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย ก็จะเกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมายสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยทางทะเล ตลอดจนภาคการประกันภัยเกิดความชัดเจนในการดำเนินการและสามารถลดความเสี่ยงหากเกิดวิกฤตได้ในอนาคต
มิติที่ 2 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจประกันภัยมุ่งไปสู่ Digital Insurance อย่างเต็มรูปแบบ
โดยต้องเร่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีและใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) ต่อยอดโครงการจัดตั้งศูนย์บริหารและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ (National Insurance Bureau : NIB) ขยายขอบเขตการให้บริการข้อมูลและควบรวมฐานข้อมูล “ประกันชีวิต-วินาศภัย” สู่ Big data เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล โดยที่ NIB จะเป็นศูนย์ที่รวมข้อมูลประกันภัย ทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต จากระบบ IBS ทั้งสองระบบ และใช้ประโยชน์จาก OIC Gateway ระยะที่ 2 จาก My Policy สู่ My Portfolio ต่อยอดโครงการ Insurance Regulatory Sandbox เป็น Smart Sandbox เพิ่มบทบาทเพื่อยกระดับศูนย์ Center of InsurTech, Thailand (CIT) ให้เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย พัฒนาเครื่องมือในการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Resilience Assessment Framework : CRAF)
รวมทั้งต้องเร่งขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทยไปสู่ดิจิทัล เพื่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของธุรกิจประกันภัยให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบประกันภัยดิจิทัลจึงมีความสำคัญต่อธุรกิจประกันภัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ลดต้นทุนดำเนินการ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดสากล ซึ่งจำเป็นต้องนำนวัตกรรม Tech Trends มาใช้กับการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทั้งนี้บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มองหาช่องทางการเติบโต ไม่ว่าจะผ่านบริการรูปแบบใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หรือมุ่งเน้นที่การป้องกันมากขึ้น รวมทั้งทำให้ผู้เอาประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยหากมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้แม่นยำบริษัทประกันภัยก็จะสามารถ Tailor Made แผนและเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพช่องทางดิจิทัล รวมทั้งขยายระบบนิเวศการขายให้มีประสิทธิภาพ

และยังมีภารกิจที่รอการสานต่อในการทำให้ประเทศไทยเป็น InsurTech hub สำหรับภูมิภาคอาเซียน หากสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญในการนำพาอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเติบโตของภาคธุรกิจ InsurTech ในภูมิภาค ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประกันภัยที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์ CIT จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้กับประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub ที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจ Startups และ Tech firms ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมการปรับเปลี่ยนทางด้านกฎหมายและการสร้างระบบที่สนับสนุนการเติบโตของ InsurTech ด้วย
มิติที่ 3 ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยมุ่งสู่ Sustainable Insurance โดยต้องดำเนินการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจประกันภัยมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยเชิงรุก (Forward looking and Pro-active Intervention) การส่งเสริมให้บริษัทมีความมั่นคงทางการเงิน และเสริมสร้างศักยภาพให้พร้อมรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในด้านธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย การเสนอขายไปจนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงและลิงก์ข้อมูลต่าง ๆ ด้านประกันภัยในอาเซียน ทั้งการพัฒนาระบบการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประกันภัยในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรระหว่างประกันภัยในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยของไทย จะทำให้ธุรกิจประกันภัยของไทยมีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
มิติที่ 4 ยกระดับการกำกับดูแลและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย โดยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการกำกับดูแลเพื่อเตรียมการรองรับมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพัฒนาเครื่องมือใหม่ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการกำกับดูแล (SupTech) ยกระดับแนวทางการตรวจสอบและกำหนดแนวทางพัฒนาระบบงานตรวจสอบบริษัทประกันภัย (Onsite Examination System: OES) เพื่อรองรับการดำเนินการตรวจสอบ ณ ที่ทำการ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี พัฒนาระบบในการให้บริการและให้ข้อมูลด้านการประกันภัยแก่ประชาชน เช่น ระบบการติดตามเรื่องร้องเรียนและส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนผ่าน Mobile Application ยกระดับระบบบริการสายด่วน คปภ. 1186 เป็น Cloud system ต่อยอดระบบ PPMS ระยะที่ 2 โดยเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยและสำนักงาน คปภ. เข้าด้วยกันทั้งระบบ ต่อยอดระบบสารสนเทศที่ใช้ในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัยมาสู่ระบบ E-Arbitration ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วมีความคืบหน้าแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“ในระยะแรกที่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เน้นการแก้ไขปัญหาด้านบริหารภายในองค์กรที่คั่งค้างมานานจนเป็นผลสำเร็จ จากนั้นก็ขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บทต่าง ๆ อย่างเต็มพิกัด จนสามารถยกร่างสำเร็จและผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว รวมทั้งเตรียมการเข้ารับการประเมิน FSAP จนสามารถสอบผ่านได้เป็นลำดับที่ 2 ของอาเซียน ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องฐานข้อมูลและดิจิทัลเทคโนโลยีก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไปจนสามารถตั้งไข่ได้และมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้กำหนดนโยบายและเดินหน้าการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ภายใต้ Mission เพื่อให้องค์กรนี้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือการพยายามทำให้ประกันภัยเป็นเรื่องที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ และถ้าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นสำนักงาน คปภ. ต้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คงหลักการสำคัญของการประกันภัย แต่ต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนรวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์ มุ่งกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ภายใต้หลักคิด จะทำอย่างไรให้ “ประกันภัย” อยู่ในใจ “ประชาชน” มาวันนี้ สำนักงาน คปภ. เดินมาได้ไกลเกินครึ่งทางแล้ว และคงต้องฝากไปถึงท่านเลขาธิการ คปภ. ท่านใหม่ที่จะเข้ามาดูแลบ้าน “คปภ.” หลังนี้ช่วยสานต่อและต่อยอดหลายสิ่งที่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น หากได้รับการพัฒนาสำเร็จเต็ม Scale ประโยชน์สูงสุดก็จะตกแก่ประชาชนและประเทศชาติ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย