วันที่ 14 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยแก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยจากสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่กักเก็บในอนุภาคนีโอโซม”
โดยมี รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ แห่งหน่วยวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทย คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ผลงานวิจัยไปสู่สาธารณชน โดย ดร.วัชระ ดำจุติ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี พร้อมด้วย คณะนักวิจัยให้การต้อนรับ ณ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยจากสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่กักเก็บในอนุภาคนีโอโซม” โดยสาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายทะเลสีเขียว (green algae) มีลักษณะคล้ายพวงองุ่น มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น สาหร่ายชนิดนี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด ทั้งกรดไขมัน PUFA วิตามินบี 2 วิตามินอี และเกลือแร่ จากข้อมูลการวิจัยด้านโภชนาการและฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้น พบว่า สาหร่ายพวงองุ่น
ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวได้ อย่างไรก็ตาม การเพาะสาหร่ายพวงองุ่นในปัจจุบัน ยังพบว่า สาหร่ายพวงองุ่นบางส่วนมีรูปร่างไม่เป็นพวงสวยงาม ซึ่งทำให้ไม่สามารถขายตามราคาในท้องตลาด ทำให้บางครั้งต้องกำจัด ซึ่งทำให้เสียมูลค่าไป คณะนักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรดให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและการลดของเสีย (waste) จากสาหร่ายพวงองุ่น โดยคณะนักวิจัยได้นำสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรดมาทำการสกัดด้วยวิธีที่เหมาะสม และได้ทำการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย จากการศึกษาพบว่า สารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์การยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของไขมัน ฤทธิ์การเกิดคีเลชันของโลหะ ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ฤทธิ์กระตุ้นคอลลาเจน รวมถึงฤทธิ์กระตุ้นยีนชะลอวัยในเซลล์ผิว อีกทั้งไม่มีความเป็นพิษในเซลล์ ซึ่งแสดงถึงความปลอดภัยของสารสกัดนี้อีกด้วย
จากนั้นได้นำสารสกัดมาพัฒนาด้วยกักเก็บในอนุภาคนีโอโซมขนาดนาโนตามสภาวะที่เหมาะสมที่ทางคณะนักวิจัยได้ศึกษามาก่อนหน้า โดยสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่กักเก็บในนีโอโซมจะมีประสิทธิภาพการซึมผ่านผิวที่ทดสอบด้วยเทคนิค Franze cell diffusion และมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สูงขึ้นอีกด้วย หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เซรั่มชะลอวัยจากสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่กักเก็บในอนุภาคนีโอโซมที่มีลักษณะเหมาะสม เช่น ซึมซับลงผิวได้รวดเร็ว ไม่ทำให้ผิวมันและเหนียวเหนอะหนะ และยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ
โครงการวิจัยนี้มีการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบความคงตัวของสารสกัดและผลิตภัณฑ์เซรั่ม ภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ จะได้ผลิตภัณฑ์เซรั่มที่มีความเป็นนวัตกรรม ซึ่งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของไทย สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการเพาะสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อเป็นรายได้เสริมและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรดและเป็นการลดของเสียในกระบวนการผลิตได้อีกด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากนั้น จึงจะมีการวางแผนในการจัดจำหน่ายต่อไป