Weekly Commentary (6–9 มิ.ย. 66) กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.50-35.10 ย่ำฐานโซนอ่อนค่า

0
594

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.53 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.49-34.89 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ขณะที่ค่าเงินหยวนร่วงลงสู่จุดต่ำสุดรอบ 6 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ให้ความเห็นว่าควรหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยสำหรับรอบประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.แม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างเชื่องช้าก็ตาม โดยการคงดอกเบี้ยจะเอื้อให้เฟดประเมินผลกระทบจากการคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เฟดพยายามสื่อสารว่าการหยุดพักไม่ได้หมายความว่าวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยนั้นได้จบลงแล้ว นอกจากนี้ สหรัฐฯได้ผ่านกฎหมายระงับการใช้เพดานหนี้สหรัฐที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ได้สำเร็จ โดยกฎหมายนี้จะระงับการใช้เพดานหนี้จนถึงวันที่ 1 ม.ค. 68

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า แม้เฟดส่งสัญญาณพิจารณาหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งทำให้นักลงทุนมองว่าเฟดอาจจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนก.ค. ทั้งนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากถึง 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค.แต่อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.7% ขณะที่ตลาดสัญญาล่วงหน้าสะท้อนว่ามีโอกาสราว 77% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดว่ามีความน่าจะเป็น 65% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp ก่อนสิ้นเดือนก.ค. ในภาวะเช่นนี้ กรุงศรีมองว่าเงินดอลลาร์จะย่ำฐานในโซนแข็งค่าก่อนเข้าสู่ประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า

สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยด้วยมติเอกฉันท์โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและยังต้องติดตามทิศทางเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ อนึ่ง แม้กนง.เน้นย้ำว่าต้องการปรับนโยบายการเงินต่อไป แต่กรุงศรีมองอย่างระมัดระวังว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจถูกตรึงไว้ที่ 2.00% ขณะที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงพลิกเป็นบวกรวมถึงสูญญากาศด้านการดำเนินนโยบายช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอาจทำให้เศรษฐกิจขาดแรงส่งได้บางส่วน