KBank Private Banking ชี้ 2 จุดเปลี่ยนสำคัญกระทบทรัพย์สินครอบครัว “การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ – ราคาประเมินที่ดิน” แนะเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อเก็บรักษาและส่งต่ออย่างยั่งยืน

0
479

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ผู้นำบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวเจ้าแรกในไทย จัดงานสัมมนา Family Wealth Planning Outlook 2023 ในหัวข้อ “รับมือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและภาษีที่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของครอบครัว” ชี้ 2 จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ และภาษีที่ดินในปี 2566 ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมแนะนำให้เจ้าของทรัพย์สินตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย รวมถึงความเสี่ยงด้านภาระภาษีที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่าง สรรพากรไทยและรัฐบาลชาติอื่นๆ ภายใต้ความตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS กำลังจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยในเดือนกันยายน กรมสรรพากรไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานในต่างประเทศ และจะส่งข้อมูลภายในเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปีต่อจากนี้เป็นต้นไป ในทางกลับกัน สรรพากรในต่างประเทศก็มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล และนำส่งข้อมูลกลับมาให้กรมสรรพากรไทยเช่นกัน โดยในปัจจุบันจะเป็นระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการร้องขอ (Automatic Exchange) และเป็นการแลกเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวมากขึ้น

มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ หรือ CRS ตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566 ได้กำหนดเงื่อนไขของการรายงานไว้ ดังนี้
ผู้มีหน้าที่รายงาน ได้แก่1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 2. บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น 4. ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5. ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 6. ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา 7. ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตตามประกาศของคณะปฏิวัติฯ 8. ทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนบัญชีที่จะถูกรายงาน ได้แก่ 1. บัญชีรับฝากเงิน 2. บัญชีรับฝากสินทรัพย์ 3. บัญชีเพื่อการลงทุน 4. กรมธรรม์ประกันชีวิต
ข้อมูลที่จะถูกรายงาน ได้แก่ 1. ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. วัน เดือน ปีเกิด และสถานที่เกิด(กรณีบุคคลธรรมดา) 3. เลขที่บัญชี 4. ยอดเงินในบัญชีหรือมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ดอกเบี้ยที่ได้รับหรือผลประโยชน์อื่น / จำนวนคงเหลือหรือมูลค่าของบัญชี ณ วันสุดท้ายของปีปฏิทิน

“KBank Private Banking มองว่าการบังคับใช้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี ไม่ว่าจะเป็น การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างสรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) รวมถึงรัฐบาลชาติอื่นๆ (CRS) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีในองค์รวม ทั้งภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลสำหรับบ้านที่มีธุรกิจในต่างประเทศหรือมีการจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ (Trust) รวมถึงภาษีมรดกที่เป็นมรดกที่อยู่ในต่างประเทศด้วย สำหรับในอนาคต KBank Private Banking คาดว่าการเรียกเก็บข้อมูลทางภาษีจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น การทำธุรกรรมเงินสดจะลดน้อยลง นอกจากนี้ การเก็บภาษีในอนาคตจะใช้ระบบ AI มาพัฒนาการเก็บภาษี ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น KBank Private Banking มองว่าลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูงต้องตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวและต้องการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านภาษีมากยิ่งขึ้นในอนาคต” นายพีระพัฒน์ กล่าว

ด้าน นางกรกช อรรถสกุลชัย Chief – Non Capital Market Solution Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ปีนี้จะเข้าสู่ปีที่ 4 ที่ภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ผู้ครอบครองที่ดินยังสับสนเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี โดยในปี 2566 สิ่งที่กระทบต่อการคำนวณภาษีก็คือการเปลี่ยนราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์ระหว่างปี 2566 – 2569 ซึ่ง 50% ของพื้นที่ที่ราคาประเมินไม่เปลี่ยนแปลง แต่มี 39% ของพื้นที่ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น และ 11% ของพื้นที่ที่ราคาประเมินปรับลดลง โดย ราคาประเมินที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากคือที่ดินในบริเวณที่ราคาประเมินกับราคาตลาดมีความแตกต่างกันมาก

“KBank Private Banking มองว่า ภาษีที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากฐานภาษีและอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การลดหย่อนจากการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ลดลง ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า KBank Private Banking แนะนำให้เจ้าของที่ดินพิจารณาใช้ประโยชน์ที่ดิน 1) เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ 2) ใช้ประโยชน์เชิงเกษตรเพื่อลดอัตราภาษี 3) ใช้ประโยชน์สาธารณะโดยการร่วมกับภาครัฐเพื่อยกเว้นภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ KBank Private Banking ยังนำเสนอบริการให้คำปรึกษาและบริหารจัดการในการแปลงทรัพย์สินที่ดินมาเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (Land Loan for Investment) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทน โดยการลงทุนที่ KBank Private Banking แนะนำมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและเพียงพอในการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้ถือครองที่ดินและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับตลาด ซึ่งไม่ต่างกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีทั้งผลตอบแทนที่น่าสนใจและความเสี่ยงที่ต้องระวัง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้รอบด้านหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างการเติบโตให้กับสินทรัพย์ที่มี และไม่ติดกับดักการลงทุน” นางกรกช กล่าวตอนท้าย

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของ KBank Private Banking ได้ที่ https://kbank.co/3ETkS5v