คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมอบนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมกันลดฝุ่นพิษ พร้อมเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน

0
502

จากสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 17 จังหวัดภาคเหนือ และเมืองใหญ่อีกหลายจังหวัดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ การเคหะแห่งชาติมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน จนปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบครอบคลุมทั่วประเทศ

การเคหะแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการการจัดการความรู้และนวัตกรรม การเคหะแห่งชาติกล่าวว่า พลตรี ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติทุกคนมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยในชุมชนการเคหะแห่งชาติ จึงได้มอบนโยบายและแนวทางในการลดผลกระทบมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 พร้อมมอบหมาย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการตามแนวทางและมาตรการ รวมทั้งติดตามและรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการดำเนินงานลดมลพิษทางอากาศ ดังนี้

1. การลดมลพิษจากยานพาหนะ ขอความร่วมมือผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติและผู้พักอาศัยในชุมชนการเคหะแห่งชาติ ควรหมั่นตรวจสภาพรถยนต์ ยานพาหนะ และเครื่องยนต์ตามรอบการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเป็นต้นกำเนิดของการเกิดฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้บริการตรวจและบำรุงรักษายานพาหนะและเครื่องยนต์ตามรอบการบำรุงรักษา และควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนรณรงค์ไม่ให้มีการจอดรถยนต์และติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ในการเคหะแห่งชาติและทุกสถานที่ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของทุกคน

2. การลดฝุ่นจากการก่อสร้าง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง หากช่วงวันเวลาใดที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่าจะมีสภาพอากาศปิด หรือมีสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นละอองดังกล่าวขอให้ลดและปรับกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง พร้อมทั้งวางแนวทางการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น มีแนวกันฝุ่น ผ้าคลุมดินและทรายที่จะใช้ในการก่อสร้าง ฉีดละอองน้ำต่อเนื่องขณะปฏิบัติงานรวมถึงควรจัดอุปกรณ์และสถานที่ทำความสะอาดล้อ และตัวถังรถยนต์ ตลอดจนมีผ้าคลุมกระบะรถยนต์และยานพาหนะช่วงเข้าและออกจากสถานที่ก่อสร้าง

3. การรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ถ้ามีพื้นที่สีเขียวและต้นไม้มากพอจะช่วยป้องกันและสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้ และทำให้อากาศที่บริเวณนั้นสะอาดขึ้นอีก จึงขอให้ร่วมกันรณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้ และจัดการสภาพแวดล้อมในทุกชุมชนทั่วประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคหะแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ภายใต้ วิสัยทัศน์และพันธกิจ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยมีเป้าหมายร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นกลางทางคาร์บอน ใน ปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเคหะแห่งชาติ จากนี้ไปคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง