เปิดตัว “Primates Enterprise” จิ๊กซอว์ใหม่ ตอบโจทย์ BCG เพิ่มศักยภาพการพัฒนายา-วัคซีน ช่วยหยุด “สัตว์ทดลอง” ผิดกฎหมาย

0
623

ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว “บริษัท Primates Enterprise จำกัด” เปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ใหม่รองรับการเติบโตระดับโลก และช่วยหยุดการใช้ ”สัตว์ทดลอง”แบบผิดกฎหมาย เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการพัฒนายา-วัคซีนตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้านสถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างคนและสถานที่ มั่นใจประเทศไทยสามารถพัฒนาถึงขั้นพึ่งพาตนเองได้ และพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสนับสนุนงานวิชาการที่เกี่ยวกับไพรเมตหรือสัตว์กลุ่มลิงว่า จุฬาฯ ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนายาและวัคซีนกับสัตว์ทดลองในตระกูลไพรเมต ดังนั้น ถ้าในวันนั้นไม่มีการริเริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ก็คือ ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาใหญ่เพราะจะไม่สามารถพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ได้

“จุฬาฯ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาในเรื่องนี้ ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดสรรเงินลงทุนทั้งที่ได้รับจากรัฐบาลและของจุฬาฯเอง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือบทบาทความสำคัญของศูนย์ฯ ไม่เพียงในประเทศไทย แต่เป็นส่วนหนึ่งของแพลทฟอร์มในการพัฒนายาและวัคซีน รวมทั้งเวชภัณฑ์ระดับโลก เนื่องจากศูนย์ลักษณะนี้เป็นศูนย์ที่มีขนาดใหญ่ มีการลงทุนที่สูงและมีความซับซ้อนในการดำเนินงาน ดังนั้นจุฬาฯจึงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างเครือข่ายกับนานาชาติทั่วโลก มีการใช้ประโยชน์จากลิงผ่านศูนย์ฯ ของประเทศไทย โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับงานวิจัยและการพัฒนายาและวัคซีน รวมทั้งเวชภัณฑ์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วและจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาและวัคซีนเองได้ โดยไม่ต้องนำเข้า และจะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาและวัคซีน รวมทั้งเวชภัณฑ์ ได้อย่างเท่าเทียมกัน

เป็นที่ทราบกันดีกว่าก่อนที่จะนำเอายาหรือวัคซีนมาให้มนุษย์ต้องมีการทดสอบว่ายาและวัคซีนนั้นมีความปลอดภัย จึงทำให้ขั้นตอนหรือกระบวนการพัฒนายาและวัคซีนมีความจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลอง ดังนั้น ถ้าไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสากล เช่นการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ทรมานและเจ็บปวด ผลการทดสอบที่ได้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ หากไม่มีระบบและมาตรฐานที่ดีเข้ามาควบคุมก็จะทำให้เกิดการลักลอบทำอย่างผิดกฎหมายได้

ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับสภาวิจัยแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อก่อตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาฯ ปัจจุบันครบรอบ 11 ปี โดยศูนย์ฯ มีหลักการในการทำงานคือมุ่งเน้นด้านวิชาการและรองรับงานวิจัยของนักวิจัยไทยเป็นหลัก สำหรับบริษัท Primates Enterprise จำกัด เพิ่งจะ spin off จากศูนย์ฯ เพื่อรองรับนักวิจัยต่างชาติ ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรเลีย เม็กซิโก และเยอรมนี ซึ่งมีความสนใจในการใช้ลิงในงานวิจัย และเมื่อได้เห็นศักยภาพของศูนย์ฯ แล้วเกิดความประทับใจที่ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ทั่วโลกทั้งนี้เนื่องจากศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นศูนย์แรกของเอเชียที่ได้การรับรองมาตรฐานสากล 2 ตัว คือ AAALAC International ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการดูแลและการเลี้ยงสัตว์ทดลอง และมาตรฐาน OECD-GLP ซึ่งเป็นมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ

การแยกตัวออกมาของบริษัท Primate Enterprise จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้รวดเร็วขึ้นและสามารถรองรับการวิจัยได้สอดรับกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น วันนี้จึงเห็นชาวต่างชาติจำนวนมากมาเยี่ยมชมศูนย์ฯ ซึ่งการนำงบประมาณจากจุฬาฯ มาใช้ก่อตั้งบริษัทฯ จะทำให้เกิดประโยชน์ตามมามากมายทั้งในทางตรงที่ศูนย์จะสร้างรายได้เข้าประเทศซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเจรจาหลายร้อยล้านบาท และในทางอ้อมจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างชาติที่นำเข้ามาในไทยผ่านโครงการวิจัยต่างๆ และยังมีการปรึกษาถึงแนวทางในการนำนักวิจัย สัตวแพทย์และสัตวบาลไทยไปเข้ารับการฝึกอบรมในต่างประเทศด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา ยังย้ำถึงมาตรฐานการใช้สัตว์ทดลองเพื่อการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน รวมทั้งเวชภัณฑ์ว่า “เรื่องการใช้สัตว์ทดลอง ด้วยความที่เราเป็นคนไทย จึงมีบางส่วนมองว่าเป็นความโหดร้าย แต่ศูนย์ฯ มีคณะกรรมการจริยธรรมดูแลอยู่ ดังนั้น ในการใช้สัตว์ทดลองของเราเป็นไปตามมาตรฐานสากล ในการทำงานแต่ละครั้งเรา พยายามใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจากที่เราเป็นศูนย์เดียวในเอเชียที่ได้รับการรับรองสองมาตรฐานดังกล่าว ทำให้เราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถนำวัคซีนโควิด-19 เข้าสู่การทดสอบในระดับ Clinical หรือในมนุษย์ได้

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อต้องการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้กับมนุษย์ จำเป็นต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลอง และที่สำคัญคือการทดสอบในลิง ดังนั้น หากไม่เกิดแพลทฟอร์มการพัฒนานี้ขึ้น นักวิจัยในประเทศไทยจำเป็นต้องนำวัคซีนไปทดสอบในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อเข้าคิวรอและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น เมื่อประเทศไทยหวังว่าจะพัฒนาวัคซีนในประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองก็ต้องดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งในช่วง 3 ปีของการระบาดของโควิด สถาบันฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับศูนย์ฯ ในการของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อสร้างศักยภาพและเพื่อพัฒนาศูนย์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อเป็นที่พึ่งภายในประเทศ ให้สามารถสร้างยาและวัคซีนได้ด้วยตัวเราเอง เป็นการพึ่งพาตนเองและเป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อร่วมมือกับต่างประเทศได้ด้วย

“เมื่อได้เห็นว่าหน่วยงานของประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ก็จะมีงานวิจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เข้ามา นี่จึงเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ซึ่งการที่จุฬาฯ เห็นความสำคัญในจุดนี้และมีการผลักดันอย่างเต็มที่ จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะพัฒนาวัคซีนเพื่อการพึ่งพาตนเอง และขณะนี้จะเห็นได้ว่าเราก้าวมาถึงจุดที่ต่างประเทศยอมรับเราแล้ว เหลือเพียงเติมเต็มศักยภาพอื่นๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการขยายงานด้านสัตว์ทดลองอย่างมากและต้องใช้เงินลงทุนสูง และบางอย่างเป็นเรื่องของไก่กับไข่คือ ด้านหนึ่งจะสร้างสถานที่ใหญ่ๆ แต่ไม่มีบุคลากร แต่อีกด้านหนึ่งมีการผลิตบุคลากร แต่ไม่มีสถานที่ทำงาน ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรและการก่อสร้างจึงต้องพัฒนาควบคู่กันไป และที่สถาบันจะเข้ามาเติมเต็มได้ สถาบันฯ จะพยายามนำเสนอให้ได้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้ก้าวไปข้างหน้า สู่เป้าหมายการพัฒนาวัคซีนของประเทศต่อไป “

นอกจากศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติแล้ว สถาบันวัคซีนแห่งชาติยังมีการวางแผนยุทธศาสตร์ในการใช้สัตว์ทดลองให้กับหน่วยงานอื่นๆในประเทศ ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการทดสอบในหนู มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการทดสอบในกระต่าย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการทดสอบในลิง จึงทำให้ประเทศไทยมีการใช้สัตว์ทดลองอย่างครบวงจร ซึ่งในอดีตประเทศไทยเรายังมีไม่ครบแบบนี้ ทำให้การพัฒนาวัคซีนของประเทศมีความล่าช้า เมื่อนักวิจัยวิจัยผลิตวัคซีนออกมาแล้วต้องไปเข้าคิวรอเพื่อทำการทดลองในต่างประเทศ ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง

นายแพทย์นคร กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการมีสัตว์ทดลองอย่างครบวงจรของประเทศไทยว่า นอกจากจะช่วยอุดช่องว่างในอดีต มีหน่วยงานด้านสัตว์ทดลองครบตั้งแต่สัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่แล้ว ยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ขึ้นมาเอง ไม่ใช่เป็นการนำสัตว์มาจากธรรมชาติที่ยังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งการก่อตั้งศูนย์ลักษณะนี้ทำได้ยาก เพราะต้องมีความมุ่งมั่นจริงๆ จึงขอขอบคุณจุฬาฯ ที่มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 11 ปี เริ่มตั้งแต่ศูนย์เล็กๆ จนเติบโตมาเป็นศูนย์ฯขนาดใหญ่และเป็นที่ยอมรับระดับโลก

นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy เพื่อยกระดับประเทศไทยจากการเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในส่วน Bio economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) หากประเทศไทยสามารถพัฒนายาและวัคซีนได้เอง จะช่วยเปลี่ยนแปลงการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจของไทย ไปเป็นผู้ผลิตจากที่เคยเป็นผู้ซื้อมาตลอด ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพสัตว์ทดลองจึงเป็นส่วนสำคัญ เพราะแม้ว่าจะมีนักวิจัยเก่งๆ แต่ไม่มีสถานที่ที่ดีหรือระบบที่ดีรองรับก็จะพัฒนายาก เมื่อวันนี้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับมีการสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับชั้นอย่าง สอดคล้องกัน จะทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายแพทย์นคร ทิ้งท้ายถึงความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ว่า ต้องยอมรับว่าถ้าไม่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่มีความพร้อมขนาดนี้ ดังนั้นโควิด-19 จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มศักยภาพด้านนี้ของประเทศไทย ให้มาอยู่ในจุดที่หากมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตก็มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะรับมือได้ไม่ช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญอย่างมากในการลงทุนด้านนี้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีงบฯ เพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมกว่า 7 พันล้านบาท จากเดิมงบฯ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่ผ่านสถาบันฯ มีอยู่น้อยมาก ต่ำกว่า 20 ล้านบาท แต่เมื่อช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีการลงทุนอย่างมาก สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนามี 3 หน่วยงาน คือคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งปัจจุบันกำลังทดสอบในมนุษย์ คาดว่าองค์การเภสัชกรรมจะได้ผลวิจัยประมาณกลางปี 2566 ส่วนจุฬาฯ จะได้ผลวิจัยปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หากสามารถใช้ในมนุษย์ได้จะมีการผลิตต่อไป