วช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานครบ 1 ปี “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์”

0
484

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานรอบ 1 ปี แผนงาน “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์” เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานภายใต้แผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัย ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา

พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนารายงานผลการดำเนินงานต่อไป โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ คณะผู้บริหาร วช. และ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานฯ กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : การขับเคลื่อนไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านพัฒนา สังคม และสิ่งแวดล้อม ของ วช. ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร และผ่านการประชุมในรูปแบบ Video Conference ผ่านโปรแกรม Zoom

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีพันธกิจที่สำคัญ คือ การสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของประเทศ วช. จึงได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นนำผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยในทุกระดับมาวิเคราะห์ถึงความพร้อมใช้และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ทั้งประชาชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้าง โดยพิจารณาทั้งความเป็นไปได้ทางวิชาการและการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมเกิดความคุ้มค่า และเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ที่สามารถเชื่อมโยงกับระดับประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การใช้ประโยชน์ วช. มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานฯ ในการดำเนินงานและเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานให้มีความเหมาะสม รวมทั้งเป็นแนวทางในการดำเนินงานในปีที่ 2 ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานฯ รายงานภาพรวมแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การใช้ประโยชน์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก วช. ในปี 2557 – 2563 จำนวน 468 โครงการ โดยในปีที่ 1 ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 – 2562 จำนวน 330 โครงการ จาก 4 ด้านงานวิจัย ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านพลาสติก โดยทำการความคุ้มค่าของผลงานวิจัย ประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ผลสัมฤทธิ์ตามเกณฑ์ OECD/DAC ของโครงการ ประเมินระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี และความพร้อมทางด้านสังคม การนำไปใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนผลักดันสู่ผู้ใช้เป้าหมาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน รวมไปถึงการออกแบบจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านพัฒนา สังคม และสิ่งแวดล้อม ของ วช. กล่าวในการปาฐกถาว่า การใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อย่างที่ทราบกันว่าสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกมีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน หลายเรื่องที่เป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ทำให้เราต้องคิดและเตรียมแผนรับมือ หลายประเทศมีความกังวล

ซึ่งตอนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกประเทศจะเน้นย้ำให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาเป็นหลักในการจัดทำแผนปฏิรูปด้วย และสุดท้ายขอฝากนักวิจัยทุกท่าน คือ “ค้นให้พบ พิสูจน์ให้ได้ และ ใช้ให้เป็น” เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน