นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอดคล้องกับมุมมองของบรรดาผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ Goldman Sachs, JPM และ Bank of America ที่ออกมาแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีหน้า จากผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความกังวลดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.19%
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.62% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และยุโรป อาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -2.2%, TotalEnergies -2.0%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากรายงานยอดสต็อกน้ำมันเบนซินรวมถึงน้ำมันกลั่น (Heating Oil และ Diesel) ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงหนุนความต้องการถือ บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลง สู่ระดับ 3.43% ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (วันพฤหัสฯ หน้า) อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่รุนแรงมากนัก หรือ ยากที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปสู่ระดับ 4.00% (ยกเว้นว่า เฟดจะส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ 5%-5.25% ไปมาก) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเพิ่มสถานะถือครอง ตามมุมมองที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.2 จุด กดดันโดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของฝั่งยุโรป ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่าง GDP ยูโรโซยในไตรมาสที่ 3 ที่โต +2.3%y/y ดีกว่าที่ตลาดคาด ทั้งนี้ บรรยากาศตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่ถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น กอปรกับ ทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ต่างปรับตัวลดลง ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่าน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ความต้องการสินค้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลงไปมาก จะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าฝั่งผู้ผลิต โดย PPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 7.2% จาก 8.0% ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่า แรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปในส่วนราคาสินค้า (Goods Inflation) ก็มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งการบริการ (Services Inflation) อาจยังคงอยู่ในระดับสูง หลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และดัชนีราคาภาคการบริการก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 70 จุด
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤศจิกายน ที่อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 47 จุด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหนุนก็มาจากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ แต่ค่าเงินบาทก็ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ภาวะระมัดระวังตัวและปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนัก ก็อาจทำให้ผู้เล่นต่างชาติทยอยขายทำกำไรการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมากนัก โดยยังคงมองแนวต้านสำคัญในโซน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยซื้อสุทธิบอนด์ไทย ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ส่วนในฝั่งผู้ประกอบการ บรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.00 บาท/ดอลลาร์